ตั้งแต่ย้ายมาโตเกียวเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ผมก็กลายเป็นโอตะทีม 8 อย่างเต็มตัว เดินทางไปถ่ายรูปที่นู่นที่นี่ เปลี่ยนอุปกรณ์ไปเรื่อย ผ่านสนามรบจริงจนเริ่มเข้าใจเทคนิคการถ่ายรูปบ้างแล้ว เลยขอเขียนบทความยาวๆ อธิบายเทคนิคถ่ายรูป (เท่าที่รู้) ไปพร้อมกับภาพเด็กๆ ทีม 8 ครับ แล้วจะรู้ว่าโลกแห่ง photography มันลึกล้ำซับซ้อนขนาดไหน
หัวข้อในซีรีส์
AKB48 Team 8
แนะนำทีม 8 กันก่อน AKB48 Team 8 เปิดตัวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2014 เป็นทีมน้องสุดของ AKB48 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ผ่านการออดิชั่นมาจาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น จังหวัดละหนึ่งคน มีคอนเซ็ปต์คือ “ไอดอลที่ไปพบคุณ” (会いに行くアイドル)ต่างจาก AKB48 ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า “ไอดอลที่คุณไปพบได้” (会いに行けるアイドル)ทีม 8 จึงได้ไปขึ้นอีเวนต์มากมายหลากหลายจังหวัด เพื่อไปพบแฟนๆ AKB48 ที่เฝ้ารออยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นครับ
เพลงประจำทีมคือ** “47 no Suteki na Machi he” (47の素敵な街へ)**หรือแปลไทยว่า “สู่ 47 เมืองอันแสนวิเศษ” สื่อถึงคอนเซ็ปต์ทีมว่าเป็นไอดอลที่ไปพบคุณอย่างชัดเจน
อนึ่ง ทีม 8 มีโตโยต้าเป็นสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการ นอกจากอีเวนต์ งานเทศกาลของแต่ละจังหวัดแล้ว เราจะเห็นทีม 8 ขึ้นเวทีงานแข่งรถที่โตโยต้าจัดบ่อยมากครับ กราบขอบคุณโตโยต้า ที่ให้เราได้ดูไลฟ์ของเด็กๆ น่ารักฟรีๆ อย่างนี้ ไว้ซื้อรถเมื่อไรจะซื้อรถโตโยต้านะ 555
Team 8 ไอดอลที่ถ่ายรูปได้
ปกติ อีเวนต์ของ AKB48 Group ทั้งหมดห้ามถ่ายรูป แต่กลับกันสำหรับทีม 8 - อีเวนต์ที่เมมเบอร์ขึ้นแสดงแทบทั้งหมดถ่ายรูปได้ครับ แม้จะไม่มีประกาศอนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รู้กันสำหรับแฟนๆ ว่านอกจากคอนเสิร์ตแล้ว ทีม 8 ขึ้นเวทีไหนก็ถ่ายรูปได้หมด (ส่วนคอนเสิร์ตทีม 8 ใช้มือถือถ่ายได้สองเพลงเท่านั้น) เลยทำให้แฟนๆ สายกล้องทั้งหลายพากันแบกกล้องแบกเลนส์ไปลุยอีเวนต์กันมากมาย ตามภาพข้างล่าง…
อีเวนต์ในบทความนี้
อีเวนต์: TOYOTA GAZOO Racing PARK in 第15回ソープボックスダービー日本グランプリ วันที่: 2015/12/5 เมมเบอร์ (จากจังหวัด): Okabe Rin (Ibaraki), Honda Hitomi (Tochigi), Yoshikawa Nanase (Chiba), Oguri Yui (Tokyo), Oda Erina (Kanagawa), Kondou Moeri (Nagano) ไลฟ์: สองรอบ 10:30-11:00, 15:00-15:30
อุปกรณ์ที่ใช้
บอดี้: OLYMPUS PEN Lite E-PL6 เลนส์: M.ZUIKO DIGITAL ED 40-150mm F4.0-5.6 R
สำหรับคนที่ไม่คุ้นศัพท์บอดี้กับเลนส์ พูดง่ายๆ คือกล้องที่ใช้สามารถเปลี่ยนเลนส์ ทำให้เปลี่ยนระยะซูมได้ตามสถานการณ์ ซึ่งต่างจากกล้องมือถือ ที่เลนส์ถ่ายได้แค่ภาพกว้างๆ มุมมองเดียว หรือกล้อง compact เล็กๆ ที่มีระยะซูมเข้าซูมออกที่กำหนดไว้ชัดเจนครับ สำหรับงานถ่ายไอดอลนี่ ต้องใช้เลนส์ซูมภาพไกลๆ เยอะๆ ครับ ไม่งั้นเห็นตัวเท่าเม็ดถั่วแน่
ผมใช้เลนส์ Micro Four-Third ตัวคูณ = 2 ดังนั้นระยะเลนส์จริงจะต้องคูณสองไปจากค่าระยะของเลนส์ครับ
หัวข้อที่ 1 - Focus
รู้รายละเอียดอีเวนต์เบื้องต้นแล้ว ก็เข้าเรื่องทฤษฎีแรกกันเลย ว่าด้วยเรื่อง Focus (โฟกัส) ครับ
โฟกัสคือจุดที่ชัดในภาพ จะถ่ายรูปให้ออกมาสวย อย่างแรกเลยต้องโฟกัสเป้าหมายให้ติดก่อน ถ้าเป้าหมายหลุดโฟกัส จะถ่ายออกมายังไงก็เบลอ เน่าครับ การถ่ายรูปเด็กทีม 8 เป้าหมายของเราคือคน เพราะงั้นไม่ต้องคิดมาก ขอให้โฟกัสไปที่ตา ขอให้ตาชัด ภาพก็ดูดีแล้ว (จะให้ดียิ่งกว่าเวลาถ่ายเฉียงๆ ตาข้างที่ใกล้กล้องต้องชัดกว่า)
มาเปรียบเทียบด้วยภาพยุยยุย (Oguri Yui) กันดีกว่า ตัวแทนจากโตเกียวสุดน่ารัก โอชิคนนึงของผมครับ อิอิ
ภาพที่โฟกัสหลุด สังเกตว่าหน้าไม่ชัด และเห็นรายละเอียดผ้าใบข้างหลัง (1/320s 150mm f/5.6 ISO200)
ภาพที่โฟกัสหน้าติด จะเห็นว่าหน้าคมชัด และรายละเอียดผ้าใบข้างหลังเบลอออกไป (1/400s 150mm f/5.6 ISO200)
หลักการไม่ยาก แต่การปฏิบัติยาก เพราะนี่คือไลฟ์ คือการแสดงที่เมมเบอร์เต้น มีหลายคน เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีเดินขึ้นเดินลง และอยู่ห่างจากเรามาก ต้องซูมเข้าไปเยอะๆ ถึงจะได้ภาพเต็มๆ ตัว เพราะงั้นจะเจอปัญหาเยอะแยะตะแป๊ะไก่ ที่ไม่มีทางเจอในการถ่ายรูปท่องเที่ยวทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะขอนำเสนอปัญหาหลักๆ สามข้อและวิธีแก้นะครับ
1.เมมเบอร์หายไปจากกล้อง
อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ยิ่งกว่าโฟกัสหลุด เพราะเมมเบอร์เต้น ขยับไปมากัน ส่วนเราก็อยากซูมถ่ายหน้าให้ชัดๆ เพราะงั้น แค่ขยับนิดหน่อยเมมเบอร์ก็หลุดไปจากเฟรมกล้องเราแล้ว ไม่มีเป้าหมาย แล้วจะไปโฟกัสอะไรล่ะจริงมั้ย…
วิธีแก้ก็คือขยับกล้องไล่ตาม แต่!! ถ้าคนที่เคยชินกับการกดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเพื่อโฟกัส จัดองค์ประกอบภาพ แล้วกดเต็มเพื่อถ่าย จะพบปัญหาว่าระหว่างที่กดครึ่งหนึ่งน่ะ เมมเบอร์ก็ขยับไปอีกที่และทำให้โฟกัสหลุด วิธีแก้ปัญหานี้คือ ใช้โหมด** Continuous Autofocus** (AF-C หรืออะไรคล้ายๆ กันแล้วแต่กล้อง) ในโหมดนี้กล้องจะตามจับโฟกัสให้ตลอดแม้แต่เวลาที่กดชัตเตอร์ค้างครึ่งนึง มีประโยชน์มากในการถ่ายอีเวนต์ที่เป้าหมายขยับตัวตลอดเวลาครับ
อนึ่ง ความสามารถในการตามจับโฟกัสขึ้นอยู่กับกล้องที่ใช้ กล้อง compact บางรุ่นเผลอๆ จะไม่มีโหมด AF-C เลยด้วยซ้ำ ส่วนกล้อง Micro Four-Third รุ่นที่ผมใช้ก็จะตามจับได้ไม่เร็วนัก เจอขยับไวๆ ก็เป๋หมดครับ กล้องแพงๆ มักจะทำคะแนนจุดนี้ได้ดีกว่า = มีโอกาสถ่ายภาพเสียน้อยกว่า
2.โฟกัสไม่ติดหน้า
ไล่ตามเมมเบอร์เข้าเฟรมแล้ว แต่ไหงโฟกัสไม่ติดหน้า อันนี้ขึ้นอยู่กับกล้องส่วนหนึ่งว่าจะเห็นหน้าเร็วพอไหม และเราเน้นให้กล้องโฟกัสไปที่ไหน บางทีเราเลือกโฟกัสตรงกลางภาพ แต่หน้าเมมเบอร์ไปอยู่ซะบน ก็หลุดโฟกัสได้ แต่กล้องส่วนใหญ่จะมีโหมดให้ปรับเลือกโฟกัสหน้าและตา (Face & eye priority) เปิดโหมดนี้ก็จะช่วยได้เยอะครับ
3.ซูมไม่ถึง
อีเวนต์สาธารณะ ที่ทุกคนมาดูได้ฟรีๆ ย่อมมีโอตะ (แฟนพันธุ์แท้) มาต่อคิวรอยึดที่นั่งด้านหน้าเรียบร้อย ดังนั้น มีโอกาสสูงมากที่เราจะได้ถ่ายภาพจากหลังๆ ถึงแม้เลนส์ซูมผมจะเทียบระยะได้ 300mm (ราวๆ 10x ของกล้อง compact) แต่ก็ไม่พอที่จะถ่ายครึ่งตัวได้ เลยมีโอกาสที่กล้องจะไม่เห็นหน้า จับโฟกัสที่ตัวมากกว่า และที่สำคัญ เมื่อซูมไม่ถึง ก็มีโอกาสที่เมมเบอร์คนอื่นจะเข้ามาในเฟรมด้วยสูง ทำให้กล้องไปจับโฟกัสที่คนอื่นแทน อยากได้หน้ายุยยุยชัด ดันได้หน้าฮี่จังชัดแทน (ก็ไม่เลวนะ 555) เป็นต้น
วิธีแก้แบบคนรวย - ซื้อเลนส์ที่ซูมได้ไกลกว่าเดิมซะ วิธีแก้แบบขอไปก่อน - ใช้ digital zoom / digital teleconverter ซูมเข้าไปหาที่คนที่อยากถ่าย อย่างน้อยก็ช่วยให้กล้องเมาโฟกัสน้อยลง เพิ่มโอกาสสำเร็จขึ้น
ส่งท้าย
ก็ขอจบเพียงเท่านี้สำหรับบทความแนะนำเทคนิคถ่ายรูปกับ AKB48 Team 8 นะครับ มีข้อแนะนำหรือข้อติติงทิ้งคอมเมนต์ไว้ได้เลยครับ โปรดติดตามชมตอนต่อไป Shutter Speed กันเร็วๆ นี้ครับ ^^
ภาพจากอีเวนต์ในโพสต์นี้ดูได้ที่ https://www.facebook.com/ChuyFansub/photos/?tab=album&album_id=1087277221291848 ครับ
ปิดท้ายด้วยภาพอิคุมิน (Nakano Ikumi จาก Tottori) กอดนารุจัง (Kuranoo Narumi จาก Kumamoto) ฮึ่ย อิจฉาาาาาาา ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้องและเลนส์คนละตัวกันนะครับ แล้วจะเปิดตัวอีกทีในโพสต์ต่อๆ ไป ฮ่าๆ