นารุจัง - Kuranoo Narumi (1/800s 150mm f/2.8 ISO250)

บทความที่หกของซีรีส์เรียนรู้เทคนิคถ่ายรูปกับ AKB48 Team 8 ครั้งนี้จะพูดถึง DOF (Depth Of Field) หรือ ความชัดตื้นชัดลึกของภาพครับ

หัวข้อในซีรีส์

  1. Focus

  2. Shutter Speed

  3. ISO

  4. Burst Shot

  5. Aperture

  6. DOF

  7. Manual Mode

  8. Image Stabilization

อีเวนต์ในบทความนี้

อีเวนต์: TOYOTA GAZOO Racing PARK in SF Okayama (จ.โอกายาม่า) วันที่: 2016/5/28, 2016/5/29 เมมเบอร์ (จากจังหวัด): Yoshikawa Nanase (Chiba), Oda Erina (Kanagawa), Nakano Ikumi (Tottori), Abe Mei (Shimane), Hitomi Kotone (Okayama), Kuranoo Narumi (Kumamoto)

อุปกรณ์ที่ใช้

บอดี้: Panasonic LUMIX G7 เลนส์: OLYMPUS M.ZUIKO DIGITAL ED 40-150mm F2.8 PRO

ผมใช้เลนส์ Micro Four-Third ตัวคูณ = 2 ดังนั้นระยะเลนส์จริงจะต้องคูณสองไปจากค่าระยะของเลนส์ครับ

รายละเอียดอีเวนต์

อีเวนต์ครั้งนี้จัดที่สนามแข่งรถ motor racing กลางภูเขาในจังหวัดโอกายาม่า นั่งรถไฟจากสถานีโอกายาม่าครึ่งชั่วโมง แล้วต่อบัสอีกครึ่งชั่วโมง รู้สึกเหมือนตัวเองต้องลำบากบุกป่าฝ่าดงไปหาทีม 8 สุดๆ จนอยากเรียกทีม 8 ว่า “ไอดอลที่คุณ (ทุ่มเทเดินทาง) ไปพบ” แทนคอนเซ็ปต์จริง “ไอดอลที่ไปพบคุณ” ซะเหลือเกิน

แต่อีเวนต์นี้ดีมาก คุ้มค่าที่ถ่อไป เพราะจัดกลางแจ้งในวันที่แดดไม่จ้า แล้วที่แสดงไลฟ์ก็มีเพิงกันแดด ทำให้หน้าเมมเบอร์ไม่สว่างเกิน และที่สำคัญ คนน้อยกว่าอีเวนต์ครั้งก่อนๆ ทำให้ผมได้เข้าไปหน้าสุด ถ่ายได้โดยที่ไม่ต้องซูมสุด ภาพสวยชิวๆ ครับ

ลงบัสมาเจอแต่ป่าล้อมรอบ

แต่โอตะทีม 8 ก็ไม่เคยหวั่น ตามไปได้ทุกที่!

อีเวนต์สองวัน จัดไลฟ์รวมสี่รอบ และมีอีเวนต์ย่อยๆ ให้เมมเบอร์ขับรถแข่งมินิเล่นด้วย คลิปไลฟ์รอบสุดท้ายแบบเต็มๆ ดูได้ตามนี้เลยครับ

DOF - Depth Of Field - ความชัดตื้นชัดลึก

DOF หรือที่รู้จักกันว่าความชัดตื้นชัดลึกของภาพ เป็นปัจจัยสำคัญอีกข้อที่ทำให้ภาพออกมาสวยครับ ภาพชัดตื้นจะทำให้พื้นหลังเบลอ เป้าหมายที่โฟกัสเด่นชัด ในขณะที่ภาพชัดลึกจะทำให้ทั้งเป้าหมายและพื้นหลังชัดเจน ในการถ่ายไอดอล ภาพชัดตื้นจะทำให้ตัวเมมเบอร์ออกมาเด่น สื่อความน่ารัก ความเปล่งประกายวิ้งๆ ได้มากกว่าภาพชัดลึก ที่พื้นหลังเวทีก็ชัดด้วย ดังนั้น ถ่ายไอดอล ยิ่งชัดตื้นได้เท่าไรยิ่งดี

ภาพชัดตื้นทำให้อิคุมิเด่นขึ้นมา ส่วนคนอื่นๆ ข้างหลังที่เราไม่สนใจก็เบลอหายไป (1/500s 150mm f/2.8 ISO200)

DOF ไม่ได้มีค่าตายตัวที่เข้าใจง่ายเหมือน Shutter Speed/Aperture/ISO แต่เกิดจากการประกอบปัจจัยหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน หลักๆ คือสี่ข้อนี้

  1. รูรับแสง ยิ่งกว้างยิ่งชัดตื้น (ค่า f น้อย) เลนส์ที่สว่างกว่า จึงชัดตื้นกว่าเป็นเงาตามตัว

  2. เลนส์ ยิ่งระยะซูมเยอะ (ทางยาวโฟกัส mm มาก) ยิ่งชัดตื้น

  3. ระยะห่างจากแบบ ยิ่งกล้องใกล้แบบเท่าไร ก็ยิ่งชัดตื้นเท่านั้น

  4. ระยะห่างจากพื้นหลัง ยิ่งพื้นหลังอยู่ไกลแบบเท่าไร ก็ยิ่งชัดตื้นเท่านั้น

ข้อสองกับสามจะขัดแย้งกันเองเพราะถ้าเราเข้าใกล้ ก็จะซูมเข้าไปหาแบบมากไม่ได้ (เดี๋ยวเหลือแต่ลูกตา 555) ต้องถอยออกมา แต่ถ้ากล้องซูมสุดแล้วรู้สึกมันยังชัดตื้นไม่พอ ก็ขยับเข้าไปใกล้แบบมากขึ้น ภาพก็จะชัดตื้น เบลอหลังได้มากขึ้น เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพครึ่งตัวมักจะเบลอหลังมากกว่าภาพเต็มตัวนั่นเอง

เปรียบเทียบ DOF

DOF หาภาพเปรียบเทียบตรงๆ ยากนิดนึง แต่ลองเทียบภาพจากอีเวนต์ที่ฟุกุอิกับภาพวันนี้ดูนะครับ

ฮามะจัง & เซริกะ (1/500s 156mm f/5.7 ISO500) OLYMPUS M.ZUIKO DIGITAL 75-300mm f/4.8-6.7 II ED

นารุจัง & อิคุมิ (1/800s 150mm f/3.2 ISO200) OLYMPUS M.ZUIKO DIGITAL ED 40-150mm F2.8 PRO

ระยะซูมประมาณ 150mm เท่ากัน ส่วนค่า f ภาพแรก f/5.7 ภาพที่สอง f/3.2 จะสังเกตได้ว่า

เวทีอีเวนต์นี้ค่อนข้างลึก ทำให้พื้นหลังอยู่ห่างจากนารุจังมากกว่าเซริกะ เลยเบลอได้มากกว่าตามหลักข้อสี่ ส่วนค่า f รูรับแสงภาพสองกว้างกว่า ทำให้ภาพชัดตื้นมาก อิคุมิเลยเบลอแม้จะอยู่ใกล้นิดเดียว ถ้าอยากให้นารุจังเด่นก็นับว่าดี แต่ถ้าอยากให้ทั้งสองคนเด่นก็ไม่ดี ต้องปรับรูรับแสงให้แคบลง

เปรียบเทียบ DOF 2

(1/800s 52mm f/3.2 ISO200)

(1/800s 150mm f/2.8 ISO250)

เปรียบเทียบระยะซูม (ทางยาวโฟกัส) ต่างกัน ถ่ายจากที่เดียวกัน อิคุมิภาพแรกระยะ 52mm เต็มตัว ภาพที่สอง 150mm ครึ่งตัว รูรับแสงต่างกันเล็กน้อยแทบไม่มีผลครับ ภาพเต็มตัว พื้นหลังขาวดำดูคมชัด ส่วนภาพครึ่งตัว พื้นหลังขาวดำเบลอ แปลว่าภาพครึ่งตัวที่ซูมมากกว่าชัดตื้นกว่าครับ ยิ้มอิคุมิดูเปล่งประกายวิ้งๆ เต็มภาพกว่าเยอะ >o<


Sensor Size กับความชัดตื้น

ขอพูดถึงเรื่องที่เป็นประเด็นเถียงกันไม่จบสิ้นของนักถ่ายภาพ คือเรื่องของ sensor size กับความชัดตื้น เป็นที่รู้กันในหมู่ช่างภาพว่า กล้องที่ sensor size ใหญ่ จะถ่ายภาพชัดตื้น เบลอหลังได้ดีกว่ากล้องที่ sensor เล็ก เลยจะขออธิบายนิดนึงครับ

ตัวอย่าง หากใช้กล้องฟอร์แมต Nikon DX (APS-C) ค่าตัวคูณระยะซูม 1.5x **อยากถ่ายภาพอิคุมิครึ่งตัวที่ผมถ่ายด้วยระยะ 150mm ก็ต้องซื้อเลนส์ระยะ 200mm มาใส่ ถึงจะได้เท่ากัน (150 * 2 = 300, 200 * 1.5 = 300) และพอย้อนไปดูกฎของการถ่ายภาพชัดตื้นข้อสอง **“ยิ่งระยะซูมเลนส์เยอะ (ทางยาวโฟกัส mm มาก) ยิ่งชัดตื้น” ก็จะเข้าใจครับว่าทำไมกล้องใหญ่ถึงถ่ายภาพชัดตื้นดีกว่า ก็เพราะระยะซูมเลนส์จริงๆ ที่ไม่ใช่ค่าเทียบเท่ายาวกว่านั่นเอง

แต่… เลนส์ที่ระยะซูมไกลกว่า ขนาดและราคาก็จะพุ่งสูงกว่าเช่นกัน

เทียบเลนส์ Nikon 70-200 F2.8 กับ Olympus 40-150 F2.8 ภาพจาก https://www.dpreview.com/forums/post/55118899

ราคาเลนส์ ณ วันที่ 2016/7/28 (ไม่นับบอดี้)

ราคาต่างกันเกือบแสนเยน แถมเลนส์ Nikon หนักกว่าสองเท่า! ถือถ่ายครึ่งชั่วโมงมีปวดแขนแน่นอนครับ

แต่ถ้าไม่ติดเรื่องขนาด มีรถให้ขับขนไปผมก็อยากใช้นะ เพราะนอกจากระยะซูมที่มากกว่าแล้ว f/2.8 ของเลนส์ฟอร์แมต APS-C ก็ยังให้ความชัดตื้นมากกว่า f/2.8 ของฟอร์แมต Micro Four-Third ด้วย** แถม “คุณภาพ”** ของพื้นหลังที่ละลายก็มักจะดีกว่า (ศัพท์คนถ่ายรูปเรียกโบเก้) ภาพที่ออกมาก็จะชัดตื้น “ละลายพื้นหลัง” ได้สุดๆ เหมาะกับการถ่ายไอดอลมากๆ แต่ประเด็นคือมันก็จะละลายเงินในบัญชีผมหมดด้วยเช่นกัน ไม่สู้ครับ…

ภาพจากทวิตเตอร์ @nyoki_n ไม่รู้ใช้อุปกรณ์อะไรแต่พื้นหลังละลายสวยมากๆ เลนส์เทพ+ฝีมือดีแน่นอน นับถือ

ต่อไปจะพูดถึง Manual Mode วิธีการตั้งค่าถ่ายภาพในสถานการณ์ที่ยากเกินกว่าที่โหมดออโต้ของกล้องจะช่วยเราถ่ายได้ครับ

ปล.ภาพอีเวนต์นี้ดูได้ที่ https://www.facebook.com/ChuyFansub/photos/?tab=album&album_id=1197621230257446 และ https://www.facebook.com/ChuyFansub/photos/?tab=album&album_id=1198155100204059