บทความที่ห้าของซีรีส์เรียนรู้เทคนิคถ่ายรูปกับ AKB48 Team 8 ครั้งนี้จะพูดถึง** Aperture **หรือรูรับแสงครับ
(1/1600s 210mm f/4.5 ISO200)
หัวข้อในซีรีส์
อีเวนต์ในบทความนี้
อีเวนต์: Fukuyama Baramatsuri 2016 (จ.ฮิโรชิมะ) วันที่: 2016/5/14 เมมเบอร์ (จากจังหวัด): Chou Kurena (Fukui), Nagano Serika (Osaka), Onishi Momoka (Nara), Hama Sayuna (Shiga), Nakano Ikumi (Tottori), Hitomi Kotone (Okayama), Tani Yuuri (Hiroshima), Shitao Miu (Yamaguchi), Gyouten Yurina (Kagawa), Takaoka Kaoru (Ehime), Hirose Natsuki (Kouchi), Kuranoo Narumi (Kumamoto)
อุปกรณ์ที่ใช้
บอดี้: Panasonic LUMIX G7 เลนส์: OLYMPUS M.ZUIKO DIGITAL ED 40-150mm F2.8 PRO + 1.4x Teleconverter
ผมใช้เลนส์ Micro Four-Third ตัวคูณ = 2 ดังนั้นระยะเลนส์จริงจะต้องคูณสองไปจากค่าระยะของเลนส์ครับ
คอลเลคชั่นเลนส์ ซ้ายล่าง: 1.4x Teleconverter ซ้ายบน: 75-300mm f/4.8-6.7 กลาง 25mm f/1.8 ขวา 40-150mm f/2.8
อีเวนต์นี้ ในที่สุดผมก็ควักกระเป๋าซื้อเลนส์โปรที่ใฝ่ฝันมาจนได้** M.ZUIKO DIGITAL ED 40-150mm F2.8 PRO + 1.4x Teleconverter Kit** ราคาแพงกว่าตัว 75-300mm f/4.8-6.7 สามเท่า ระยะซูมน้อยกว่าครึ่งนึง ขนาดใหญ่กว่า และหนักกว่าสองเท่า แต่มันมีดีตรงไหน… ก็ตรงที่ค่า f หรือรูรับแสงที่ f/2.8 คงที่ตลอดทุกระยะนั่นเอง ค่า f/2.8 นี้สำคัญยังไง รออ่านได้ต่อไปครับ
อีเวนต์นี้ผมติด 1.4x Teleconverter ให้ซูมได้มากขึ้น ทำให้ f ลดลงเหลือ f/4 ครับ
รายละเอียดอีเวนต์
อีเวนต์ครั้งนี้จัดกลางแจ้ง เป็นมินิไลฟ์ในงานเทศกาลกุหลาบเมืองฟุคุยามะ เมืองแห่งดอกกุหลาบ อยู่ทางตะวันออกของจังหวัดฮิโรชิม่าครับ พูดถึงระยะทางแล้ว เมืองนี้ใกล้เมืองโอกายาม่า จังหวัดโอกายาม่า มากกว่าเมืองฮิโรชิม่าครับ เดินทางจากโอกายาม่าสะดวกกว่า
บรรยากาศหน้าเวที ไลฟ์เริ่มสี่โมงเย็น แต่ผมนั่งรอตั้งแต่บ่าย ร้อนมาก
Aperture รูรับแสง
รูรับแสง หรือพูดกันสั้นๆ ว่าค่า f หมายถึงขนาดของรูหน้ากล้อง มีหน่วยเป็น f-stop ค่ายิ่งน้อย รูรับแสงยิ่งกว้าง ตัวอย่างเช่น f/2 f/2.8 f/4 f/5.6 ในที่ยกตัวอย่างมานี้ f/2 คือค่ารูรับแสงกว้างที่สุด ปล่อยให้แสงเข้ากล้องได้มากที่สุด
อิคุมิน จ.ทตโตริ (1/1000s 210mm f/4 ISO200)
ค่ากว้างสุดและแคบสุดของรูรับแสงนี่ขึ้นอยู่กับตัวเลนส์ว่าผลิตมาเท่าไร กล้องสามารถเลือกปรับค่าได้ภายในระยะนั้น โดยมากเวลาพูดถึงค่านี้บนสเป็คเลนส์ เราจะพูดถึงค่ากว้างสุดครับ ยิ่งรูรับแสงกว้าง ยิ่งสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น ทำให้หยุดภาพให้นิ่ง ไม่เบลอได้ ตามที่อธิบายไปในบท Shutter Speed
นารุจัง จ.คุมาโมโตะ (1/1000s 210mm f/4 ISO200)
ค่า f จะส่งผลต่อขนาดของเลนส์โดยตรง เพราะค่านี้ได้จากสูตร f = ระยะซูม/เส้นผ่าศูนย์กลางหน้าเลนส์ (mm) ดังนั้นยกตัวอย่างเลนส์โปรผม f/2.8 ที่ระยะ 150mm ความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางหน้าเลนส์ก็จะเป็น 150/2.8 = 53.6 mm เทียบกับเลนส์เก่า ที่ระยะ f/6.7 ที่ระยะ 300mm ความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางหน้าเลนส์ก็จะเป็น 300/6.7 = 44.8 mm เท่านั้น เลยเป็นเหตุผลว่าเลนส์ตัวใหม่ใหญ่กว่าในขณะที่ระยะซูมสั้นกว่าครับ
เซริกะ จ.โอซาก้า (1/1000s 210mm f/5 ISO200)
f กว้างนอกจากจะให้แสงเข้ากล้องมากขึ้น ถ่ายรูป SS เร็วขึ้น ลดอาการเบลอได้แล้ว ยังทำให้ภาพมีความ “ชัดตื้น” มากขึ้น ทำให้เป้าหมายเด่นขึ้นมาจากพื้นหลังด้วยครับ เรื่องนี้เดี๋ยวลงรายละเอียดในบทต่อไป DOF อีกที
Aperture, Shutter Speed และ ISO
Aperture/Shutter Speed/ISO
ทบทวนเรื่องสามค่าหลักที่ส่งผลต่อปริมาณแสง Aperture, Shutter Speed และ ISO อีกที ภาพข้างบนเป็นภาพที่ใช้อ้างอิงกันบ่อยในการอธิบายครับ
-
แถวบน Aperture ควบคุมปริมาณแสงที่เข้ากล้อง ค่ายิ่งน้อยแสงยิ่งเข้าเยอะ ภาพสว่าง
-
แถวกลาง Shutter Speed ควบคุมเวลาที่แสงเข้ากล้อง ค่ายิ่งน้อย (ตัวส่วนมาก) แสงยิ่งเข้าน้อย ภาพหยุดนิ่ง
-
แถวล่าง ISO ควบคุมความไวแสงที่กล้องรับ ค่ายิ่งน้อยกล้องยิ่งไม่เร่งปริมาณแสง ภาพออกมาชัดเจน ไม่มี noise
จะเห็นได้ว่า Aperture / Shutter Speed ส่งผลต่อปริมาณแสงที่เข้ากล้องจริง ส่วน ISO เป็นการปรับแสงที่เข้ามาแล้วว่าจะปรากฏออกมายังไงในภาพ แน่นอนว่าคุณภาพมันสู้แสงที่เข้ามาจริงไม่ได้หรอก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการปรับ ISO ขึ้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ครับ
ภาพฮี่จังจากบท Shutter Speed (1/1000s 208mm f/6.3 ISO640)
ภาพอีเวนต์วันนี้ ความเร็วชัตเตอร์เท่ากัน แต่ f กว้างกว่า ทำให้ได้ ISO200 คุณภาพดีกว่าภาพบน ISO640 แน่นอน (1/1000s 115mm f/4 ISO200)
จากประสบการณ์ผม ถ่ายไลฟ์ทีม 8 ต้องยึดค่า Shutter Speed ที่ 1/500s ลงไปเป็นอันดับแรก ไม่งั้นภาพเด็กๆ จะออกมาเบลอเพราะการเคลื่อนไหว ส่วน Aperture กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อภาพชัดตื้น และ ISO น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ (ไม่ทำให้ภาพมืดเกิน) เพื่อคุณภาพครับ
แต่สถานการณ์จริงที่จะตั้งค่าตามที่บอกข้างบน ต้องเป็นไลฟ์กลางแจ้งช่วงบ่ายๆ ฟ้าใส แดดดี ไม่มีเมฆบัง อย่างไลฟ์วันนี้เท่านั้น (แลกกับการตากแดดถ่าย ร้อนบัดซบ… อยากได้ภาพดีต้องลำบากครับ) ไลฟ์ตอนแดดร่มหรือในอาคาร ปรับตามนั้นไม่ได้แน่ ต้องยอมเพิ่ม ISO ภาพมี noise บ้างก็ยังดีกว่าภาพเบลอล่ะนะ >_<”
อนึ่ง สามค่านี้ในกล้องมักเขียนสั้นๆ ว่า A/S/ISO ครับ พูดถึงตัวย่อสามอันนี้เมื่อไรก็ขอให้เป็นที่รู้กัน
ช็อตเด็ดประจำวันนี้ อิคุมินจูบมิอุจัง >//< (1/1000s 210mm f/4.5 ISO200)
ก็จบไปอีกบทนึง กับเรื่องของ Aperture รูรับแสง เปิดให้กว้างเข้าไว้ครับ ถ้าเปิดกว้างสุดแล้วภาพยังสว่างไม่พอ ก็ถึงเวลาซื้อเลนส์ใหม่เทพๆ ผลาญเงินในกระเป๋าได้แล้วครับ ไม่มีหนทางช่วย 555 นอกจาก f กว้างแล้ว เลนส์แพงๆ มักใช้กระจกดีกว่าเลนส์ราคาถูก ทำให้ภาพคมชัดกว่าด้วย เปรียบเทียบภาพบทความนี้กับบทความก่อนหน้าได้เลยครับ ชัดเจนมาก…
ต่อไปจะพูดถึง DOF (Depth Of Field) ความชัดตื้น/ชัดลึก ที่ค่า Aperture ส่งผลไม่น้อยครับ
ปล.ภาพอีเวนต์นี้ดูได้ที่ https://www.facebook.com/ChuyFansub/photos/?tab=album&album_id=1185812504771652 และ https://www.facebook.com/ChuyFansub/photos/?tab=album&album_id=1186322601387309