เกริ่นนำ

เดือนที่แล้วผมเพิ่งย้ายงานมาเป็น iOS Software Engineer ที่บ. REALITY ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและให้บริการแอพ REALITY -Avatar Live Streaming- แอพที่ให้ทุกคนเป็น VTuber สไตล์อนิเมะน่ารักๆ ไลฟ์สดได้ทุกที่ทุกเวลา

REALITY株式会社

REALITY株式会社は"なりたい自分で、生きていく。"をビジョンに掲げ、バーチャルライブ配信アプリ「REALITY」の運営やバーチャルライブ制作などのライブエンターテインメント事業を展開しています。

พอเขียนแอพ เพิ่มฟีเจอร์นู่นนี่เข้า มีความผูกพันกับแอพมากขึ้น ก็เริ่มสนใจจะไลฟ์ด้วยตัวเองบ้าง (เป็นสายดูอย่างเดียวมาตลอด) แต่จะให้พูดอย่างเดียวคงไม่รอด เลยกะหาเพลงมา Cover หรือเล่นดนตรีประกอบดู จึงเป็นที่มาของการหาข้อมูลว่าต้องทำยังไงถึงจะไม่ผิดกฎหมาย และสรุปเป็นบทความนี้นั่นเอง

คำเตือนก่อนอ่านต่อ

บทความนี้อธิบายกฎสำหรับผู้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับผู้อยู่นอกญี่ปุ่น หากอยากทำให้ถูกต้องจริงๆ ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตต่อเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงโดยตรง เมื่อจะใช้เพลงในการสตรีมมิ่ง ตามกฎหมายแล้วหากไม่ได้รับคำอนุญาตคือห้ามใช้

JASRAC กับการบริหารลิขสิทธิ์เพลง

ก่อนจะลงถึงขั้นตอน ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์กันก่อน

เมื่อศิลปินสร้างผลงานเพลงขึ้นมา ผลงานนั้นจะได้รับการปกป้องจากกฎหมายลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ การนำไปก๊อบปี้ แจกให้โหลดฟรี หรือแม้แต่การนำไปสตรีมในไลฟ์ของตัวเองก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การเปิดเพลงของศิลปินบรรเลงเป็น BGM คลิปนั้นจึงเป็นสิ่งต้องห้าม (ถ้าอัพขึ้น YouTube แป๊บเดียวก็โดน mute เพราะสาเหตุนี้)

แต่ยุคนี้เป็นยุค UGC (User-Generated Content) ที่ใครๆ ก็ร้องเพลงแสดงความสามารถตัวเองได้ ทางฝั่งศิลปินก็รู้ดีว่าการที่ผู้ฟังนำเพลงของตัวเองไปบรรเลงใหม่ หรือนำไปร้องคาราโอเกะอัพคลิปแชร์นั้น ถือเป็นการโปรโมตผลงานของตัวเองเป็นอย่างดี จึงมีมาตรการอนุญาตให้ใช้เพลงตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อลดความยุ่งยากในการแชร์ผลงาน ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารดูแลมาตรการนั้นก็คือ JASRAC นั่นเอง

JASRAC องค์กรดูแลลิขสิทธิ์เพลงญี่ปุ่น

JASRAC ย่อมาจาก Japanese Society for Rights of Authors, Composers and Publishers (สมาคมสิทธิของผู้เขียน นักแต่งเพลง และสำนักพิมพ์ของญี่ปุ่น) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องลิขสิทธิ์ผลงานเพลงและสื่อสิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่น พูดง่ายๆ สำหรับคนทั่วไปก็คือ จะขอนำผลงานใดๆ ไปใช้ที่ไหน ก็ติดต่อองค์กรนี้ได้เลย

ในแง่ของผลงานเพลง JASRAC ทำหน้าที่บริหารเพลงของศิลปินญี่ปุ่นจำนวนมาก ความสัมพันธ์เขียนเป็นแผนผังได้ดังภาพนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน-บริษัท-JASRAC

เหตุผลที่บริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์มอบอำนาจบริหารลิขสิทธิ์ให้ JASRAC ดูแล ก็เพราะงานบริหารนั้นเป็นสิ่งที่วุ่นวาย สิ้นเปลืองพลังงานมากทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค สมมติมีคนอยากใช้เพลงของ Gurenge ของ LiSA ไปใช้ทำโฆษณา ก็ต้องไปติดต่อกับ Sony Music, อยากใช้เพลง Fushigi ของ Hoshino Gen ก็ต้องไปติดต่อ AMUSE เป็นต้น ถ้าอยากใช้ 10 เพลงก็ต้องติดต่อ 10 ที่ ยุ่งยากและใช้เวลาเยอะมาก

JASRAC เลยเข้ามาแก้ปัญหาความยุ่งยากนี้ โดยมาเป็นตัวกลางให้ เพียงยื่นคำขออนุญาตผ่าน JASRAC ทีเดียว ก็ขอใช้เพลงจาก 10 บริษัทได้ทันที (กรณีที่บริษัทมอบอำนาจบริหารสิทธิที่ผู้ใช้ต้องการขอให้กับ JASRAC) สิ่งที่ผู้ขอใช้เพลงต้องทำก็คือ

  1. เซิร์ชว่า JASRAC บริหารเพลงที่ต้องการใช้หรือไม่ จากเว็บ JASRAC Work Information Database
  2. ตรวจดูว่า JASRAC ได้รับมอบอำนาจบริหารสิทธิใดบ้าง หากเป็นสิทธิที่ JASRAC บริหาร ก็สามารถยื่นเรื่องขอใช้สิทธิ์ผ่าน JASRAC ได้โดยไม่ต้องผ่านบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์

รายการสิทธิที่ JASRAC มีอำนาจบริหาร - บรรเลง คัดลอก ดัดแปลง โฆษณา และใช้ในเกม

ในการขอใช้สิทธิแต่ละอย่าง ก็จะมีค่า loyalty ต่างกันออกไป โดย JASRAC กำหนดเรทไว้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น

  • ใช้ในคอนเสิร์ต = (ค่าตั๋ว * จำนวนผู้ชม * 80% * 5%) + ภาษี
  • ใช้เป็นเพลงประกอบในร้านค้า = คิดค่าใช้จ่ายคงที่ตามขนาดพื้นที่และจำนวนลูกค้า
  • ใช้ในงานโรงเรียนที่ไม่เกิดรายได้จากการแสดง = ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องยื่นคำขอใช้

จะเห็นได้ว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้สิทธิ์ และค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ทำให้ฝั่งผู้ใช้สามารถยื่นเรื่องขอใช้เพลงเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจตัวเองได้โดยไม่ยุ่งยาก สร้างรายได้ให้กับศิลปินเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย

กฎเกณฑ์การใช้เพลงบน Streaming Service

เล่าหน้าที่ของ JASRAC แล้ว​ ต่อไปก็ขอลงรายละเอียดการนำเพลงไปใช้ในคลิปยูทูป​ หรือใช้ร้องเพลงลงไลฟ์ครับ สำหรับข้อมูลต้นฉบับ สามารถดู Flowchart ได้ที่เว็บ JASRAC ครับ

กรณีใช้เพลงต้นฉบับ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเสียงร้อง

ต้องติดต่อขออนุญาตบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นกรณี แต่เจ้าของลิขสิทธิ์บางที่ก็มีประกาศว่าอนุญาตให้ใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต กรณีนั้นไม่จำเป็นต้องติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้

ตัวอย่างเพลง Instrumental ต้นฉบับที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้นำไปใช้ได้เลยก็เช่นเพลง Vocaloid​ ที่ผู้แต่งเพลงจำนวนมากแจกไฟล์ให้โหลดกันได้ฟรีๆ จึงมีคนนำไปโคฟร้องกันมากมาย (คลิปอุไตเตะเป็นเพลง Vocaloid เยอะมากก็เพราะเหตุผลนี้)

กรณีใช้สิทธิเกี่ยวเนื่อง

กรณีอัพโหลดเพลงที่บรรเลงเอง หรือร้องเพลงตามเนื้อเพลง,ทำนองต้นฉบับ จะถือเป็นการใช้สิทธิ์เกี่ยวเนื่อง (Related rights 著作隣接権) ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองเช่นกัน

กฎเกณฑ์ของรูปแบบเพลงที่ใช้ได้ ต้องตรงตามข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

  • เป็นเพลงที่บรรเลงด้วยตัวเอง (หรือผู้บรรเลงให้อนุญาต)
  • เป็นเพลงที่ร้องตามเพลงที่บรรเลงด้วยตัวเอง
  • MIDI ที่ตัวเองเขียน
  • เป็นเพลงต้นฉบับที่ผู้ให้บริการได้รับอนุญาตจากบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์

กรณีเหล่านี้ถือเป็นการใช้สิทธิเกี่ยวเนื่อง สามารถอัพโหลดขึ้นบริการ Streaming Service ที่ทำสัญญาแบบครอบคลุมกับ JASRAC ได้โดยไม่ต้องยื่นเรื่องกับ JASRAC ช่วยลดความวุ่นวายได้มาก

ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับ JASRAC

สามารถดูลิสต์บริการที่ทำสัญญาแล้วได้ตามเว็บนี้ มี YouTube อยู่ในนั้นด้วย

ข้อควรระวังคือ ถึงจะใช้สิทธิเกี่ยวเนื่องได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ทำรายได้ได้ ดังนั้น เพลงที่อัพขึ้นยูทูปจึงมักถูกปิด monetization หรือไม่ก็ถูกส่งค่าโฆษณาให้เจ้าของลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ (ยูทูปเรียกว่า Collecting Societies) หากต้องการทำรายได้จากสิทธิเกี่ยวเนื่อง ก็ต้องติดต่อขออนุญาตเป็นกรณีไป

อีกข้อควรระวังคือ เพลงทำนองคาราโอเกะถือเป็นเพลงบรรเลงโดยคนอื่น ดังนั้นจึงห้ามเปิดเพลงคาราโอเกะแล้วร้องขึ้นสตรีมมิ่งได้โดยไม่ได้รับอนุญาต (ตัวอย่าง JOYSOUND มีกฎห้ามชัดเจน)

การขอใช้ลิขสิทธิ์เพลงในต่างประเทศ

อย่างที่เกริ่นว่าบทความนี้เล่าถึงการใช้เพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นเท่านั้น กรณีผู้อาศัยต่างประเทศ ต้องติดต่อกับองค์กรที่ JASRAC มอบอำนาจบริหารให้

สำหรับประเทศไทย MCT เป็นผู้ดูแลสิทธิเพลงญี่ปุ่นที่ JASRAC บริหาร ผมไม่ทราบรายละเอียด ขอให้หาข้อมูลกันเองนะครับ

สรุป

การขอใช้ลิขสิทธิ์และจ่ายค่าใช้สิทธิ์อย่างถูกต้อง เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ศิลปินมีรายได้ไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาเพื่อขับเคลื่อนวงการบันเทิงต่อไป ในแง่ของการใช้เพลง ญี่ปุ่น JASRAC เข้ามาช่วยให้คนทั่วไปสามารถใช้สิทธิ์เพลงในคลิปของตัวเองได้โดยง่าย หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีความใส่ใจในการใช้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องมากขึ้นครับ

แหล่งอ้างอิง

บทความนี้โพสต์ครั้งแรกที่ Medium