สวัสดีปีใหม่ 2021 ครับ 😄 วันนี้จะมาเล่าถึงแชนแนล Arisa อาริสาและภาษาญี่ปุ่น เป็นช่องสอนภาษาญี่ปุ่นด้วย VTuber ที่ผม (@chuymaster) กับทีมงานร่วมกันทำเป็น side project ของตัวเอง
พวกเราเริ่มคิดโปรเจ็กต์นี้ตั้งแต่ต้นปี 2020 ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของโปรเจ็กต์ และในโอกาสที่ทำคอนเทนต์หลักที่วางแผนไว้เสร็จหมดแล้ว ผมจึงขอเขียนอธิบายวิธีการทำงานเบื้องหลังให้เป็นความรู้สำหรับผู้ที่สนใจทำแชนแนลยูทูปกันครับ
บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงาน เครื่องมือที่ใช้ และข้อมูลผู้ชมจาก Youtube Analytics เรียกได้ว่าเปิดเผยข้อมูลกันหมดเปลือกไปเลย!
คอนเซ็ปต์ของแชนแนล Arisa อาริสาและภาษาญี่ปุ่น
เสนอคอนเทนต์แนะนำภาษาญี่ปุ่นสนุกๆ สไตล์อนิเมะให้ผู้ที่สนใจญี่ปุ่น |
ตัวอย่างคลิปสอนภาษาญี่ปุ่นพร้อมเรื่องราว
สำหรับผู้สนใจลงลึก อ่านรายละเอียดได้ที่บทความนี้ครับ
VTuber คืออะไร
VTuber ย่อมาจาก Virtual Youtuber หรือยูทูปเบอร์ที่นำเสนอตัวเองผ่านอวาตาร์ 2D/3D กระแสนี้ดังมาจากญี่ปุ่นที่ใช้ตัวละครอนิเมะแสดง ปัจจุบันมีเครื่องมือให้ใครๆ ก็สามารถเป็น VTuber ได้ สำหรับ VTuber ที่มีผู้ติดตามมากที่สุดของไทยปัจจุบันก็คือ Aisha Channel ครับ
โฆษณา: ถ้าอยากรู้ว่า VTuber ไทยมีใครบ้าง ก็สามารถไปดูได้ที่เว็บจัดอันดับที่ผมทำได้นะ😏 → เว็บจัดอันดับ VTuber ไทย
ขั้นตอนการทำงาน
ขั้นตอนการทำงานหรือ Workflow แต่ละตอนเป็นดังนี้
- Brainstorm เขียนคอนเซ็ปต์บท
- เขียนบทการสอนและสตอรี่
- ทำสไลด์ & วาดรูปประกอบเพิ่มหากจำเป็น
- ส่งบทและสไลด์ให้นักพากย์อัดเสียง
- อัดเสียงและ Live2D อาริสา
- ตัดต่อคลิป
- ทีมงานเช็คคลิปและแก้คลิปตามสมควร
- ทำเอกสารประกอบการสอน
- สร้างภาพ Thumbnail คลิป
- อัพคลิปขึ้นยูทูป
รวมๆ แล้วใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์สำหรับหนึ่งตอนของคอนเทนต์หลัก ส่วนคอนเทนต์เสริมมีบทน้อย ไม่ต้องใช้คนพากย์อื่นและไม่ต้องวาดรูปเพิ่ม ถ้าไม่ติดงานอะไรกัน ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ก็เสร็จ
Software ที่ใช้
ซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับทำโปรเจ็กต์มีดังนี้
Live2D
ซอฟต์แวร์ทำโมเดล 2D ที่ขยับได้จากภาพวาด โมเดลอาริสานี้นักวาดวาดเอง และ Rig (ทำโมเดลให้ขยับได้) ด้วยตัวเองทั้งหมด ส่วนผมที่เป็นฝ่ายเทคนิคก็นำมาปรับแก้ Parameter ต่อให้นำไปขยับในโปรแกรม FaceRig ได้
ตอนแรกๆ ปากขยับได้แค่ขึ้นๆ ลงๆ ก็เลยแก้ให้ขยับได้มากขึ้น คลิปที่ผมดูแล้วทำตามหลักๆ ก็จะเป็นคลิปนี้ครับ
FaceRig
ซอฟต์แวร์ขยับอวาตาร์ Live2D รันบน Windows แทบจะเป็นมาตรฐานของวงการ VTuber Live2D ไปแล้ว (เห็นตัวใหม่ Animaze เพิ่งออกมา ยังไม่ได้ลอง)
FaceRig สามารถกดปุ่มให้เปลี่ยนโพสได้ 5 ปุ่ม ซึ่งผมกำหนดไว้ดังนี้
- Z (PARAM_CHEEK) - ยิ้มปิดตา
- X (PARAM_TEAR) - ร้องไห้
- C (PARAM_RAGE) - ตกใจ
- V (PARAM_HAIR_FLUFFY) - เขินอาย
- A (PARAM_TONGUE) คิ้วลำบากใจ
ข้อมูลเทคนิคในการ map parameter Live2D เข้ากับ FaceRig key อ่านได้จากเอกสารนี้
OBS Studio
โปรแกรมบันทึกหน้าจอ ใช้กันทั่วไปในวงการสตรีมมิ่ง ไม่ขออธิบายมาก
Final Cut Pro X
โปรแกรมตัดต่อวิดีโอบน macOS ทำได้ทุกอย่าง แต่ผมใช้ฟีเจอร์ไม่กี่อย่าง อยากเรียนรู้แล้วฝึกใส่เอฟเฟ็กต์อลังการให้เป็นอยู่เหมือนกัน
ข้อดีของ Final Cut Pro X คือความเร็ว พรีวิวเรนเดอร์แบบ Realtime ได้เลย และความสามารถในการรวมไฟล์ทุกอย่างที่ต้องใช้ในคลิปไว้ใน Library เดียว ไม่ต้องกลัวว่าจะเผลอลบไฟล์ทิ้งแล้วหาไม่เจอ พอทำหลายๆ ตอนก็สามารถดึงไฟล์จากตอนอื่นมาใช้ได้อย่างง่ายดาย
Web Service ที่ใช้
เว็บเซอร์วิสที่ใช้ทำโปรเจ็กต์มีดังนี้
Notion
Notion คือ All-in-one Workspace พื้นที่ทำงานออนไลน์ที่เก็บและจัดการข้อมูลทุกประเภทได้ สามารถเพิ่มสมาชิกเข้าทีม แก้เอกสาร อัพโหลดไฟล์แชร์กันแบบเรียลไทม์ได้ ช่วยให้บริหารโปรเจ็กต์ได้ราบรื่นขึ้นเยอะ
Portal ของโปรเจ็กต์
หน้าเอกสารบทพูด
สิ่งที่เป็นประโยชน์สุดสำหรับคนตัดต่อคลิปอย่างผม คือผมสามารถอัพคลิปวิดีโอขึ้นไปบน Notion แชร์ให้ทีมเช็คแล้วคอมเมนต์ได้เลย หลังคอมเมนต์เสร็จผมก็แก้และติ๊ก checkbox ว่าแก้แล้ว ทำให้ไม่พลาดว่าจะต้องแก้อะไรตรงไหน ลดปัญหาการสื่อสารผิดพลาดได้เยอะมาก (Notion ให้พื้นที่อัพไฟล์ไม่จำกัดหากเป็นสมาชิก Personal Plan)
คอมเมนต์คลิปหลังตัดต่อเสร็จ
Figma
Figma เป็นเครื่องมือออกแบบเว็บ/แอพที่ทุกคนสามารถแก้ไขงานพร้อมกันได้แบบ realtime แต่ผมนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำสไลด์แทน
สไลด์ทั้งหมดในแต่ละตอน ผม Export ออกมาเป็นไฟล์ภาพแล้วนำไปเรียงใน Final Cut Pro X
อย่างที่เห็นในคลิปว่าเราทำ Visual Novel เป็นคอนเทนต์หลัก สไลด์ใช้ภาพเดิมๆ แค่เปลี่ยนตัวละครกับตัวอักษร ตอนแรกลองทำใน Google Slide แล้วปรากฏว่าแก้ยาก เปรียบเทียบหลายหน้าพร้อมกันไม่ได้ จะแก้ภาพทีก็ต้องแก้ทุกหน้าอีก ซึ่งพอเป็น Figma เราสามารถสร้าง Component ได้ แก้ที่ Master ทีเดียว ทุกสไลด์ก็จะเปลี่ยนตามหมด และยัง Export เป็นไฟล์ .png แยกเลเยอร์พื้นใสให้นำไปใช้ตัดต่อได้โดยง่ายด้วย (ที่เห็นอาริสาสั่นๆ ก็ใช้วิธีนี้ทำเอา 555)
ภาพตัวละครที่เตรียมไว้
อนึ่ง ก่อนเริ่มโปรเจ็กต์เรามีการกำหนด Style Guideline ไว้ ทำให้เราเลือกสีตัวอักษรบนสไลด์ได้ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก และสร้างความ consistent ให้กับการนำเสนอด้วย
Style Guideline
Google Drive
กูเกิลไดรฟ์ที่ทุกคนรู้จัก เป็นที่อัพโหลดไฟล์ภาพและเสียงเท่านั้น ข้อมูลเอกสารทั้งหมดเราจัดการบน Notion เพราะจัดเรียงได้เป็นระเบียบกว่ามากๆ
Discord
Communication Tools ของโปรเจ็กต์เรา ใช้แชทและ Voice Chat คุยกัน มีฟีดแบคอยากให้เปิดเป็น Community ให้คนดูเข้ามาพูดคุยกันด้วย แต่ทีมงานเรามีแค่สามคน ไม่น่าจะมีเวลามาดูแลไหว เลยยังไม่ทำครับ
ฟีดแบค
ผมได้เตรียมแบบสอบถามบน Google Form ไว้ที่คำอธิบายคลิป ดีใจมากที่มีคนดูแล้วตอบแบบสอบถามกันเยอะ ทางทีมงานก็รับฟังคำติชมและนำไปปรับปรุงคลิปครับ สิ่งที่ปรับปรุงไปแล้วก็เช่น
- ปรับปรุงสำเนียงการพูด
- ใส่โรมันจิ
- ใส่ตัวอย่างเพิ่มในเอกสารประกอบ
- ทำคลิป Q&A เป็นคอนเทนต์เสริม
เรื่องที่ตอบยากก็คือเรื่องระดับเนื้อหาที่สอน การเล่นเกม และการไลฟ์สดโต้ตอบกับผู้ชม ด้วยเหตุผลดังนี้
- เนื้อหาที่สอน - ให้เรียงลำดับตาม JLPT เนื้อหาก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนดูใหม่ดูไม่รู้เรื่อง
- ข้อมูลจากแบบสอบถามบ่งชี้ว่าคนดูกว่า 80% แทบไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นเลย
- ไลฟ์สด - กลัวจะให้ข้อมูลภาษาญี่ปุ่นผิดๆ หากมีการถามตอบสด (ต้องเตรียมข้อมูลก่อนอธิบาย)
แต่ทุกคอมเมนต์เป็นประโยชน์ต่อผมและทีมงานมาก ทำให้รู้ว่าเรายังต้องพัฒนาตรงไหน และคนดูต้องการอะไร ก็จะพยายามนำไปปรับใช้กับคอนเทนต์ในอนาคตเท่าที่ทำได้ครับ
ข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถาม
สำหรับข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถาม อายุหลักๆ อยู่ที่ 13~23 ปี เป็นผู้ชายส่วนใหญ่ และแทบไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นกัน แต่นี่เป็นข้อมูลที่ได้จากตอนเปิดแชนแนลใหม่ๆ เป็นหลัก อาจจะไม่ตรงกับปัจจุบันเท่าไรนัก
ข้อมูลสถิติ Youtube Analytics
มาดูข้อมูลสถิติที่น่าสนใจกันดีกว่า
ยอดผู้ติดตาม
ยอดผู้ติดตาม ณ วันที่ 1 มกราคม 2021 อยู่ที่ 10,800 คน (กราบทุกคนงามๆ สิบที 🙏 ) กราฟยอดผู้ติดตามนับตั้งแต่วันแรกที่อัพคลิปเป็นดังนี้ครับ
จะเห็นได้ว่ายอดต้นเดือนกรกฎาคมพุ่งสูงมาก สัปดาห์เดียวทะลุ 5,000 คน เพราะได้พี่เพจเกมถูกบอกด้วยช่วยแชร์ให้ แล้วก็มีคนแชร์ต่อๆ กันไปเกินพันคน คือตกใจมากจริงๆ ทำให้เราเร่ิมแชนแนลได้อย่างว่องไวติดจรวดเลย
แต่กระแสมาไวก็ไปไว เป็นสัจธรรมของคอนเทนต์ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม ยอดผู้ติดตามก็เพิ่มทีละนิดๆ เท่านั้น ผมเดาเหตุผลว่าดังนี้
- คอนเทนต์อัพน้อย แค่สัปดาห์ละครั้ง
- ผู้ชมเป็นสายชม VTuber ไม่ได้ตั้งใจเรียนภาษาญี่ปุ่น จึงไม่มี Engagement มากนัก
- ไม่ได้โปรโมตที่อื่นเพิ่มเติมนอกจากช่องและเฟสบุ๊กของตัวเอง
Traffic Source
ทราฟฟิกที่คนเข้าชมคลิป มีความเปลี่ยนแปลงเยอะมากระหว่างเดือนแรก (ก.ค.) กับห้าเดือนให้หลัง (ธ.ค.
เดือนก.ค. 2020
- ทราฟฟิกหลักมาจาก YouTube suggestion และ External (ลิงค์จาก Facebook)
- เซิร์ชคีย์เวิร์ดอันดับหนึ่งคือ arisa เดาได้ว่ามาจากกลุ่มคนที่ชอบ VTuber เซิร์ชหา
เดือน ธ.ค. 2020
- ทราฟฟิกหลักเปลี่ยนเป็นการเซิร์ชเจอแทน
- คีย์เวิร์ดมาจากการสอนและเรียนภาษาญี่ปุ่นแทน
ความเปลี่ยนแปลงของผู้ชม
ความเปลี่ยนแปลงของ Traffic Source ทำให้กลุ่มผู้ชมเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ที่ชัดเจนที่สุดก็คือจำนวนผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 15.5% ในเดือนก.ค. เป็น 41.0% ในเดือนธ.ค. คาดว่าผู้ชมกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เซิร์ชคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น จึงสรุปได้ว่าช่องอาริสาได้รับการยอมรับจาก YouTube ว่าเป็นช่องสอนภาษาญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลมากพอสมควร และกลุ่มผู้ชมกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ทีมงานเล็งเป็นเป้าหมายตั้งแต่แรกแล้วด้วย ดีใจมากๆ ครับ 😭
กราฟเปรียบเทียบเดือนก.ค.และธ.ค. 2020
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโปรเจ็กต์
หลังอัพคอนเทนต์มาเกือบครึ่งปี ผมและทีมงานก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่างให้นำไปปรับใช้ ตัวอย่างเช่น
- (ผม&นักวาด) ได้รู้จักโลกของนักพากย์ครั้งแรก
- (ผม) ได้เรียนรู้วิธีขยับ Live2D และตัดต่อวิดีโอ
- (นักวาด) ได้ฝึกปรับ schedule ให้ออกงานได้อย่างต่อเนื่องทันเวลา
- (นักพากย์) รู้วิธีออกเสียงภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น (อ้างอิงจาก Google Translate ได้เยอะมาก)
เป้าหมายต่อจากนี้
ตอนนี้คอนเทนต์หลัก 10 ตอนได้จบลงไปแล้ว นี่เป็นเป้าหมายที่ทีมงานตั้งไว้ตั้งแต่ต้น ก็ถือเป็นการจบ Season 1 ของโปรเจ็กต์โดยสมบูรณ์ คอนเทนต์ต่อจากนี้จะเน้นตอบโจทย์กลุ่มผู้ชมที่เซิร์ชหาคีย์เวิร์ดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น แต่ก็อยากทำให้สนุก ไม่เน้นเรียนเนื้อหาแน่น จึงกะจะทำเป็นคลิปนำเสนอวิถีชีวิตที่ญี่ปุ่น ให้เป็นเกร็ดความรู้ และได้คำศัพท์กลับไปหลังดูทีละนิดทีละหน่อยครับ คงมีการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ยินดีรับคำแนะนำครับ
ขอบคุณผู้ที่อ่านมาถึงตรงนี้ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทำ YouTube Channel นะครับ ขอแค่ผู้อ่านได้แรงบันดาลใจไปผลิตคอนเทนต์ดีๆ ต่อผมก็ดีใจแล้วครับ!
หากมีข้อเสนอเกี่ยวกับแชนแนลอาริสา สามารถติดต่อได้ที่ Facebook Page ครับ จากนี้ไปก็ขอฝากติดตามชมคอนเทนต์ใหม่ๆ กันต่อไปด้วยนะครับ วันนี้ก็ขอลาไปก่อน それでは!😊