เกริ่นนำ

Kondo Marie คนโดะ มาริเอะ หลายๆ คนคงรู้จักเธอจากหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ที่เสนอหลักการจัดของในบ้านด้วยการถามว่า ของเหล่านั้นทำให้เรามีความสุข (spark joy) หรือไม่ ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็เห็นด้วย ขอบคุณสิ่งของที่มีแล้วทิ้งไปได้เยอะมาก ของเชียร์ HKT48 ทั้งหลายผมก็กำจัดได้ด้วยวิธีนี้ ขอบคุณและบอกลาพวกเธอซะ ><

Joy at Work: Organizing Your Professional Life

วันนี้ผมอ่านหนังสือเล่มใหม่ของเธอจบไป หนังสือชื่อ Joy at Work: Organizing Your Professional Life เขียนร่วมกับ Scott Sonenshein วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2020 เสนอวิธีจัดการชีวิตการทำงานอันยุ่งเหยิง คนจำนวนมากต้องใช้เวลากับการทำงานมากกว่าเวลาอยู่บ้านส่วนตัว การปล่อยให้ชีวิตที่ทำงานยุ่งเหยิง ก็เหมือนการปล่อยให้ชีวิตเราเสียเวลาไปกับงานที่ไม่จำเป็น ส่งผลลบทั้งต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อบริษัท และต่อสังคม หนังสือเล่มนี้ช่วยแนะนำวิธีจัดการชีวิตที่ทำงานได้ครอบคลุม ไม่ใช่แค่การจัดโต๊ะทำงาน/เอกสาร แต่รวมถึงการจัดการเวลา การตัดสินใจ การบริหารทีม และสุดท้ายคือการย้อนคิดถึงตัวเองว่างานแบบใดจะ spark joy ให้เรากันแน่

โพสต์นี้ผมจะขอหยิบคำพูดที่น่าสนใจและตรงใจมาอธิบายตามประสบการณ์ทำงานของตัวเอง หวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้ไอเดียใหม่ๆ นำไปใช้กับการทำงานครับ

Quote ที่น่าสนใจ

Quote ทั้งหมดคัดลอกมาจากหนังสือ Kondo, Marie. Joy at Work: Organizing Your Professional Life . Little, Brown and Company. Kindle Edition.

Tidying Your Workspace

To sum up, store by category, use boxes, and don’t store anything on top of your desk.

เรื่องของโต๊ะทำงาน ให้เก็บทุกอย่างไว้เป็นที่ แยกประเภท ใช้กล่องจัดแบ่ง อย่าวางอะไรไว้บนโต๊ะ จะช่วยให้ focus กับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น เรื่องนี้จริงสำหรับเรา เป็นคนที่เห็นโต๊ะรกไม่ได้ จะวอกแวก

Tidying Time

Those who multitask often do so not because they’re particularly good at it but because they struggle to block out distractions and focus on a single task.

คนที่ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าเขาทำงานหลายอย่างพร้อมกันเก่ง แต่เพราะว่าเขาไม่สามารถปิดกั้นงานที่เข้ามาแทรก จึงไม่สามารถโฟกัสกับการทำงานอย่างเดียวในเวลาเดียวได้

เราเป็นคนแบบนี้เลยช่วงนี้ ช่วงนี้งานไม่ใช่แค่เขียนโค้ดโปรแกรม แต่ต้องออกแบบ API ต้องคุยกับหัวหน้าเรื่องการเก็บ Log บางทีก็ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเอง ชีวิตไม่รู้ว่าจะมี interruption เข้ามาเมื่อไร เข้ามาก็ต้องตอบทันทีไม่งั้นโปรเจ็กต์จะเดินช้าเพราะเรา ติดกับดักความเร่งด่วนมาก ช่วงนี้รู้สึกได้ชัดเลยว่าถ้าอยากโฟกัสกับ task ตรงหน้าจริงๆ ต้องทำตอนเช้าหรือกลางคืน ตอนที่รู้ว่าไม่มีใครส่ง slack ทักเราแน่ๆ กลางวันกลายเป็นช่วง multitask ทำอะไรจริงจังไม่ค่อยได้

Research shows people make their jobs more satisfying by taking on new responsibilities, volunteering to help out a colleague or even just working on a side project without asking for formal permission.

การวิจัยบอกว่าพนักงานพอใจกับงานมากขึ้นหากได้ลองทำอะไรใหม่ๆ หรือช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ทำโปรเจ็กต์เสริมโดยไม่ต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการ

หลักการ 80/20 ให้เวลาทำงาน 20% ทำอะไรก็ได้ เราชอบแนวคิดนี้มาก ทำให้ได้ลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เขียนบล็อก ได้เขียน batch กำจัด routine works ที่น่ารำคาญใจ แต่ช่วงนี้บ.ต้องการบริหารเข้มงวดขึ้น จะทำอะไรต้องสร้าง issue รายงานหัวหน้า ถึงเขาจะไม่ห้าม แต่พอถูกบริหารงี้แล้วก็เซ็ง ไม่มีอารมณ์ทำ ปัญหาของโปรเจ็กต์เสริมพวกนี้คือมันวัดผลยาก บางทีไม่รู้จะทำสำเร็จมั้ยอีก พอจำเป็นต้องรายงาน ก็จะกลัวที่จะทำไม่สำเร็จ ไม่ทำดีกว่า

Tidying Decisions

In most cases, a good-enough decision will be good enough. Striving for perfection is often unnecessary and comes at a cost.

การตัดสินใจที่ผ่านการคิดมาพอสมควร มักจะเป็นการตัดสินใจที่ดีพอ การพยายามทำให้เพอร์เฟ็กต์​ ไม่ผิดพลาดเลยมักเสียเวลากว่าที่ควร

ข้อความนี้สนับสนุนความคิดในใจเราได้เยอะ อย่างที่บอกว่าช่วงนี้ต้องออกแบบ API ต้องไปดูว่า field นี้มีข้อมูลจริงมั้ย ดึงมาใช้ง่ายรึเปล่า มี irregular case มั้ย พยายามออกแบบมาไม่ให้มีข้อผิดพลาด แต่พอพยายามทำเข้า แค่ออกแบบ API เล็กๆ นิดเดียวก็ใช้เวลาทั้งวันแล้ว แถมส่งให้รีวิวแล้วก็เจอข้อผิดพลาดอยู่ดี

เราควรคิดว่าคนเราไม่สมบูรณ์แบบ อย่าพยายามทำให้ perfect ทำให้เร็ว ส่งต่อให้คนอื่นแก้ดีกว่า ถ้าเพื่อนร่วมงานยึดหลักนี้ในการทำงาน ต่อให้มีข้อผิดพลาด เพื่อนร่วมงานก็จะช่วยแก้ให้ ไม่มองเราในแง่ลบ

Tidying Your Network

(To build high-quality connections) be open and trust others. Make yourself even more vulnerable—letting people know about your mistakes and being upfront about your shortcomings.

การสร้าง network ที่มีคุณภาพ ต้องเปิดกว้างและเชื่อใจคนอื่น เปิดเผยข้อเสียของตัวเอง ให้คนยื่นมือช่วย อย่าสร้างอิมเมจว่าตัวเอง perfect

เอาจริงเราเป็นคนที่มีอีโก้ ไม่ถามคนอื่น ทั้งที่รู้แก่ใจว่าการถามช่วยแก้ปัญหาได้เร็วกว่าการคิดหรือเซิร์ชหาคำตอบด้วยตัวเอง ต้องพยายามปรับแนวคิดตัวเองให้ได้

Tidying Meetings

When you step into a meeting, you’re entering a shared space for collaboration, decision-making, and exchanging ideas.

ที่ประชุมคือที่แห่งความสร้างสรรค์ ที่ทำงานร่วมกัน ตัดสินใจ และแลกเปลี่ยนไอเดีย เราควรคิดแบบนี้แล้วเข้าประชุม กล้าพูดความเห็น รับฟังความคิดคนอื่นแล้วนำมาประยุกต์ใช้ ไม่ใช่เข้าไปนั่งฟังเฉยๆ อย่างไร้ค่า ถ้าคิดว่าที่ประชุมนั้นไม่ก่อให้เกิดไอเดีย และไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ไม่มีความเห็นจะเสนอ ก็ขออนุญาตไม่เข้าดีกว่า

Tidying Teams

A product-development team is at its best when its purpose isn’t just launching products but delighting customers and making their lives better.

ทีมพัฒนา product จะทำงานได้ประสิทธิภาพที่สุดเมื่อทีมสามารถทำให้ลูกค้าดีใจ ช่วยทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น ไม่ใช่เมื่อเข็น product ออกวางขาย

ข้อนี้ขอกระทืบไลค์ซักร้อยครั้ง ตรงกับความรู้สึกตอนนี้มาก บริษัทปัจจุบันปล่อยให้การตัดสินใจพัฒนา product (software) อยู่กับ Executives หมดเลย ทีม engineer มีหน้าที่ทำตาม ไม่ต้องคิด ไม่ต้องดูตัวเลข ขอแค่เสนอวิธีที่จะทำให้เร็ว ทำให้ง่ายที่สุดพอ สำหรับเรา นี่เป็นวิธีทำงานที่น่าเบื่อมากๆ ในใจเราอยากทำอะไรที่เปลี่ยนวิถีชีวิต user สร้าง impact ที่ดีต่อ user แต่พอถูกปิดกั้นแนวคิดนี้หมด ก็เหมือนทำงานเป็นเครื่องจักรไปวันๆ…

How to Spark Even More Joy at Work

If something you’re engaged in doesn’t bring you joy, remember that where you are now is the path that you chose in the past. Based on that understanding, ask yourself what you want to do next.

ถ้าการทำงานไม่ทำให้มีความสุข จำไว้ว่างานปัจจุบันเป็นสิ่งที่ตัวเราในอดีตเลือก คิดให้ดีแล้วถามว่าอยากทำอะไรต่อไป

ในหนังสือให้คำแนะนำว่าถ้าไม่ชอบงาน ก็อย่าเพิ่งด่วนลาออก ให้เปิดใจคุย ขอเปลี่ยนลูกค้า ขอเปลี่ยนทีม ตัวเราเปลี่ยนงานเพราะความเกลียดงานมาสามครั้งแล้ว พบว่าครั้งที่แย่ที่สุดคือครั้งที่เปลี่ยนงานไปทำงานสายการเงิน ด้วยเหตุผลเดียวคืออยากย้ายไปอยู่ฟุกุโอกะ ไม่ได้สนเนื้องานเลย ตอนนั้นชีวิต private ดีมาก แต่ชีวิตการทำงานคือเกลียดมาก อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ลาออกแล้ว

ถามตัวเองให้ดีว่าอยากทำอะไร เพราะอะไร หาตัวเลือกในงานปัจจุบัน เปิดใจคุยกับหัวหน้า จนกระทั่งหาไม่เจอแล้วค่อยเปลี่ยนงาน จะทำให้ชีวิตการงานมีความสุขยิ่งขึ้น ในกรณีล่าสุดของเรา ไปคุยกับหัวหน้าเรื่องขอลาออกเพราะพบว่าตัวเองไม่เห็นด้วยกับ mission/vision ของบริษัท ไม่มีหนทางให้การทำงานมีความสุขในบริษัทนี้ได้อีกต่อไป

สรุป

ที่ทำงาน Roppongi Hills

Joy at Work: Organizing Your Professional Life เป็นหนังสือที่นำเสนอแนวคิดการจัดการชีิวิตที่ทำงานอย่างมีหลักการ มีตัวอย่างสนับสนุน ศูนย์กลางแนวคิดอยู่กับคำว่า “Spark Joy” ของ Kondo Marie ก็จริง แต่หลักการจัดการสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเรื่องของเวลา ทีม การตัดสินใจนั้นเขียนโดย Scott Sonenshein, Professor of Management at Rice University ทำให้แต่ละข้อความมีน้ำหนัก ชวนให้ทำตาม

สำหรับคนที่อยากได้แง่คิดใหม่เพื่อนำไปลองใช้ในการทำงานจริง ช่วยให้มีความสุขกับที่ทำงานมากขึ้น เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยได้ แนะนำให้อ่านครับ 😄