ส. 25 สิงหาคม 2018​ ผมได้ไปชมงาน VR Creative Award 2018 ที่จัดโดย VR Consortium ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของญี่ปุ่น ในงานมีผลงาน VR สร้างสรรค์ต่างๆ มากมายมาประกวดกัน ดูแล้วประทับใจ ก็จะขอเล่าประสบการณ์ไว้ในโพสต์นี้ครับ

VR Creative Award 2018 คือ

VR Creative Award (VRクリエイティブアワード) เป็นงานที่จัดขึ้นปีละครั้งเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานบน VR (Virtual Reality) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ Creator ชั้นนำในอุตสาหกรรม VR ได้สร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและพัฒนาผลงานยิ่งๆ ขึ้นไป

รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ Official Website

ค่าเข้าชมงานสำหรับคนทั่วไป 3,000 เยน ในงาน นอกจากการพรีเซนต์ผลงานที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศโดยผู้ส่งประกวดแล้ว ก็ยังมีผลงานให้ทดลองเล่น-ชมกันรวมทั้งสิ้น 12 ผลงาน ผู้เข้าชมเลือกชมได้ 4 ผลงาน อนึ่ง ต้องต่อแถวรับตั๋วเข้าชม งานประกวดอลังๆ ดังๆ ก็จะต้องรอนานไม่ก็ตั๋วหมด อดเล่นเลย

ทดลองชมผลงาน VR แนวหน้าของโลก

งาน VR ที่ผมได้ทดลองจริงมีทั้งหมด 4 งาน จะขอเล่าให้อ่านกันทีละอันๆ อย่างละเอียด

1.Elastic Arm Illusion

ผลงานนี้น่าจะเรียกว่าผลการทดลองมากกว่า ผู้ชมจะสวมแว่น VR แล้วจับแท่งเหล็กไว้ จากนั้นผู้คุมจะดึงแท่งเหล็ก** ผู้ชมจะเห็นและรู้สึกว่าแขนตัวเองยืดได้ในโลก VR** ผมลองเล่นแล้วก็รู้สึกแปลกดี เหมือนแขนตัวเองโดนดึงให้ยืดได้จริงๆ เป็นลูฟี่เลย 555

System ประกอบด้วย Vive HMD, Vive Tracker และ Wii Board ผู้คุมจะถือแท่งเหล็กและยืนบน Wii Board แล้วออกแรงดึง แขนในโลก VR จะยืดออกตามแรงที่ผู้คุมออก (รับค่าโดย Wii Board) เนื่องจากแรงนั้นดึงเราที่สวมแว่นที่นอนอยู่จริงๆ เราเลยสัมผัส illusion ว่าแขนตัวเองยืดออกตามแรงดึง

ได้ทดลอง Elastic Arm Illusion นี้เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี อารมณ์เหมือน Trick Art ในโลก VR แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้กับอะไรจริงได้แฮะ

2.Shokkaku Taiken Unko Tsuntsun 触覚体験うんこツンツン

ทดลองจิ้มอึ... เข้าใจง่ายสุดๆ เป้าหมายคือเพื่อให้เราได้รู้ว่าอึแบบไหนเป็นอึที่แสดงถึงร่างกายที่แข็งแรง อึแบบไหนแสดงว่าคนคนนี้ป่วยแล้ว

เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ อนาคตจำนวนผู้สูงอายุจะยิ่งเพิ่มขึ้น แปลว่าพวกเขาต้องการการดูแลจากลูกหลาน เมื่อเราต้องกลายเป็นผู้ดูแล ก็จะเลี่ยงการเช็ดของเสียไม่ได้ แต่คนปกติไม่ค่อยแตะไม่ค่อยจับอึกัน ผลงานนี้เลยตั้งใจให้เราได้ลองจับอึหลายๆ ประเภท เพื่อให้เรามีความพร้อมก่อนจะต้องดูแลผู้สูงอายุจริงๆ คอนเซ็ปต์ดีนะผมว่า

System ใช้เครื่อง haptic feedback ส่งความรู้สึกผ่านนิ้ว (ไม่รู้เรียกอะไร) เมื่อเราขยับนิ้วตามภาพในจอ เครื่องก็จะให้ feedback กลับมาเหมือนว่าตรงนั้นมีวัตถุอยู่จริงๆ เลย ตกใจมากตอนลอง จิ้มก้อนนิ่มๆ ได้จริงๆ ทั้งๆ ที่ตรงหน้าไม่มีอะไรอยู่ หรือก้อนอึแข็งๆ ก็แข็งโป๊กขยับนิ้วไม่ได้เลยจริงๆ ถือเป็น VR ที่เล่นกับประสาทสัมผัสได้แม่นยำมาก น่าจับตามองอนาคตเทคโนโลยี haptic feedback นี้จริงๆ ถ้ากลายเป็นชุดที่สวมแล้วสัมผัสทุกอย่างได้เหมือนโลกจริง ประกอบกับแว่น VR คงสร้างประสบการณ์ที่เหมือนจริงสุดๆ ได้แน่ๆ

3.Happy O-sha-re Time ハッピーおしゃれタイム

เกมสาวน้อยน่ารักสำหรับเด็กๆ เล่นได้สี่คน เปิดให้บริการจริงๆ อยู่แล้วที่ร้านเกม VREX ชินจุกุ/ชิบุย่า ตัวเกมให้ผู้เล่นสี่คนเป็นไอดอลสาวน้อย เลือกชุดเสื้อผ้าแต่งตัวให้ตัวเอง แล้วก็เล่นเกมดนตรีแตะโน้ตที่ลอยมาหนึ่งเพลง จบด้วยการถ่ายรูปที่ระลึกกันคนละหนึ่งรูป

ผมเล่นกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน สนุกดี การแปลงตัวเองเป็นสาวน้อยในโลก VR เป็นเรื่องปกติ ชินแล้ว แต่การเล่นกันหลายคน โพสท่าถ่ายรูปด้วยกันได้นี่แปลกใหม่มาก มีบริการปรินต์รูปจริง เชื่อมโลก VR กับความเป็นจริงให้ด้วย ถือเป็นเกมที่สมบูรณ์แบบในตัวมันเองเลย รูปที่ได้เมื่อเทียบกับความจริงก็จะเป็นอย่างนี้…

System ประกอบด้วย PC สะพายหลัง + HTC Vive สี่เครื่อง เล่นด้วยกันในห้องเดียวกัน ไม่มีอุปกรณ์เสริมแปลกๆ อะไร ขายด้วย Software ล้วนๆ

4.ABAL:DINOSAUR

ผลงานทัศนศึกษาโลกไดโนเสาร์ใน VR ผู้ชมพร้อมกันได้ทั้งหมดหกคน ทุกคนจะอยู่ในโลก​ VR เดียวกัน เห็นตัวกัน เดินไปตามเส้นทางทัศนศึกษา (ห้องที่เตรียมไว้) ด้วยกัน มองดูชีวิตไดโนเสาร์ขนาดเท่าตัวจริง

ผลงานนี้ผมยกให้อันดับหนึ่งเรื่องความ Immersive (ความเหมือนจริง ราวกับเราเข้าไปอยู่ในโลกนั้นจริงๆ) เลย นอกจากคอนเทนต์ไดโนเสาร์ที่สมจริง ฉากที่สวยงามแล้ว ก็ด้วยองค์ประกอบสามอย่างที่ผู้สร้างอธิบายไว้

1.ความอิสระ สามารถเดินได้จริงอิสระในโลก VR ไม่มีสายพ่วงให้กังวล

2.ประสาทสัมผัส มีสิ่งที่สัมผัสได้จริง (ราวจับระหว่างล่องแพชมไดโนเสาร์) ไม่ใช่แค่คว้าลม

3.ประสบการณ์ร่วมกัน มองเห็นคนข้างๆ ที่อยู่ในโลก VR ด้วยกัน แชร์ความตื่นเต้น ความประทับใจด้วยกันได้

VR ที่มีองค์ประกอบสามอย่างนี้** ถือเป็น VR ระดับสูงสุดที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะทำได้** เข้าใจว่าเลยว่าทำไมเราถึงประทับใจได้ขนาดนี้

System ประกอบด้วย VICON Motion capture system จำนวนมากที่ติดตั้งไว้ในห้องและที่อุปกรณ์ VR

อุปกรณ์ประกอบด้วย HMD (มือถือ Gear VR), ที่สวมมือสองอัน, ที่สวมเท้าสองอัน ทั้งหมดหกชุด เล่นได้พร้อมกันหกคน

ด้าน Software ประมวลผลโดยการส่งข้อมูล Motion ของแต่ละชุดไปยัง Gear VR แต่ละเครื่องให้แสดงภาพ content + ภาพ avatar ของคนข้างๆ สร้างประสบการณ์ร่วมได้อย่างสมบูรณ์แบบ

MVP ในใจ - Virtual Cast(バーチャルキャスト)

Software ในฝัน​ ที่ทำให้ทุกคนได้เป็น Virtual Caster อย่างง่ายๆ เพียงมี VR HMD เท่านั้น

Virtual Cast มีฟีเจอร์ที่ทำให้ใครก็เป็น Virtual Youtuber (VTuber) แคสต์อะไรสนุกๆ ได้ง่ายๆ เช่น

ความสุดยอดพูดไปก็ไม่เข้าใจ ดูคลิปที่ถ่ายมาดีกว่า

[videojs mp4=”/images/2018/08/IMG_8304.MOV”]

ผมไม่ได้สวมแว่นเล่นเอง แต่คนที่เล่นคือสามารถกลายเป็นคาแรกเตอร์ 3D ได้เลย วิธีเล่นก็มีคนอีกคนที่ใช้ Virtual Cast เช่นกันเป็นคนสอน คนสอนเห็นว่าคุม avatar อยู่ที่ฮอกไกโดเลย ต่อให้ข้ามโลกก็อยู่ด้วยกันได้ ดูคลิปก็รู้แล้วว่าคนเล่นสนุกขนาดไหน 555 นึกถึงสมัยก่อน เล่น ragnarok มาเจอกันในเมือง Morroc นั่งแชทคุยนู่นนี่กับเพื่อน ร่ายเวทเล่นๆ ไปเรื่อย โลกในเกมที่เคยฝันถึงนั้นกำลังจะกลายเป็นความจริงในโลก VR แล้ว จะไม่สนุกได้ยังไง!!

System ไม่มีอะไรพิเศษ HTC Vive ธรรมดา ความสุดยอดอยู่ที่​ Software ที่ช่วยให้การ communication กันอย่างสนุกสนานเป็นเรื่องง่ายๆ และคนสอนที่ชวนคนเล่นคุยได้สนุกสุดๆ เสกอุปกรณ์นู่นนี่มาเล่นกัน แปลงร่าง ขยายตัว ย่อตัว ทำอะไรบ้าๆ บอๆ ขำ 555+

ประกาศรางวัล

ในงานมีการพรีเซนต์โดยผู้ส่งประกวดทั้ง 12 ทีม พรีเซนต์ผ่านจอธรรมดา เข้าในถึง passion ความพยายาม จุดเด่นที่แปลกใหม่ของแต่ละผลงานชัดมาก แต่ก็เสียดายที่การพรีเซนต์ยังใช้สไลด์ธรรมดาๆ อยู่ อยากให้ถึงวันที่สามารถพรีเซนต์ VR ในโลก VR ได้จริงๆ

บรรยากาศนำเสนอ

เวทีประกาศรางวัล

จะขอพูดถึงผลงานที่ได้รับบางอันที่ผมชอบตามนี้

1. รางวัลพิเศษ 審査員特別賞

รางวัลนี้ตกเป็นของ ABAL:DINOSAUR ที่ผมแนะนำไป เทคโนโลยีไม่ใหม่ แต่ Scale ใหญ่มาก คอนเทนต์สวยงาม มีความอลังการ สามารถเล่นได้พร้อมกันเต็มที่ 9 คนตอนนี้ ถือเป็นผลงานที่สร้างได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน จึงได้รับรางวัลพิเศษนี้ไป คนมอบรางวัลคือ Ochiai Youichi นักวิจัยชื่อดังในวงการ VR ญี่ปุ่น

2.รางวัลยอดเยี่ยม (優秀賞)

รางวัลนี้สองผลงานได้รับ หนึ่งในนั้นคือ Happy O-sha-re Time ด้วยเหตุผลว่าเป็นเกมน่ารักๆ ที่ทำให้คนทั่วไปทุกอายุ ทุกวัยเล่นได้โดยไม่มีความคิโม่ย (creepy) ไม่เกิดปรากฏการณ์ Uncanny valley ได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจายเกม VR สู่คนจำนวนมาก เลยได้รับรางวัลไป

เกมนี้สร้างโดยทีมงานผู้หญิงสามคนเท่านั้น คอนเซ็ปต์คืออยากสร้างเกม Arcade VR (เกมตั้งตาม game center) สำหรับเด็กผู้หญิงซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มี และยังตั้งใจจะแก้ปัญหาเกม Arcade VR ทั่วไปที่คนส่วนใหญ่เล่นทีเดียวก็เลิก ทำให้รายได้ต่อพื้นที่ไม่ค่อยดีนักด้วย ปัญหานี้แก้ได้เพราะเกมสำหรับเด็กๆ จะมีชุดคอสตูมขายให้เก็บสะสมกัน มีเพลงดนตรีหลายๆ เพลงให้เล่นซ้ำได้ไม่เบื่อ และมีการโพสท่าถ่ายรูปตอนจบ ได้รูปที่ระลึกกลับไปด้วย เพราะฉะนั้น มาเล่นรอบสอง รอบสาม คอนเทนต์ก็จะไม่เหมือนเดิม ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป เยี่ยมจริงๆ

3. รางวัลชนะเลิศ (最優秀賞)

รางวัลชนะเลิศ ตกเป็นของสองผลงานจากบริษัทเดียวกัน** Virtual Cast** และ** VRM 3d avatar file format for VR** ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองผลงานนี้เมื่อประกอบกัน จะกลายเป็น Platform ที่ช่วยให้คนจำนวนมากสามารถสื่อสารกันผ่าน VR ได้ เป็นชนวนที่จะจุดประกายให้โลกที่มนุษย์คุยกันผ่าน VR เกิดขึ้นได้จริง ปรบมือให้ครับ กราบบบบบ

อนึ่ง VRM คือฟอร์แมต 3D Model ที่บ. Virtual Cast สร้างขึ้น ดูรายละเอียดและโหลดได้ที่ Github มีเป้าหมายเพื่อสร้าง 3D avatar ที่ใช้ได้ทุก platform ไม่แยกกันเหมือนปัจจุบัน สร้างขึ้นด้วยความเชื่อว่า ต่อจากนี้ทุกคนจะมี 3D avatar เป็นของตัวเอง แต่ด้วยโลกปัจจุบันที่ platform แบ่งแยกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่ง hardware - Vive/Oculus หรือ software - Unreal/Unity การที่ avatar ไม่สามารถใช้ข้ามโลกกันได้ จะทำให้ผู้เล่นในโลก VR ไม่มีตัวตนของตัวเองที่คงที่ ย้ายเกมทีก็ต้องสร้างใหม่ที ฟอร์แมตนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ สร้างโมเดลทีเดียวใช้ที่ไหนก็ได้เลย

ส่วน Virtual Cast ก็อย่างที่ผมอวยไปข้างบน ขอแค่มีอุปกรณ์ VR ก็เข้าไปอยู่ในโลก VR เชื่อมต่อกับคนทั่วโลกรวมถึงโลกนอก VR (คอมเมนต์) ได้ เปิดมิติใหม่ของการสื่อสารเลย แน่นอนว่ารองรับฟอร์แมต VRM สร้างโมเดลทีเดียวใช้ได้ทุกที่เช่นกัน เชื่อว่าพอ 6DOF Standalone VR ออกเมื่อไร แอพนี้จะกลายเป็น killler app ชวนให้คนสวมแว่น VR อยู่ทั้งวันแน่ๆ

ผู้รับรางวัล คนที่พูดคือ Yamaguchi ซัง ผมได้เข้าไปคุยตัวๆ มา อ่อนน้อมถ่อมตัวสุดๆ เลย

ถ่ายรูปหมู่ผู้รับรางวัล

สรุป

VR Creative Award 2018 นำเสนอผลงานของผู้เข้าประกวดทั้ง 12 ที่ผ่านการสรรค์สร้างด้วยไอเดียใหม่ๆ มากมาย การได้เข้าชมงานครั้งนี้ทำให้ผมวาดภาพอนาคตที่ VR จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้เลย รอให้ Hardware ลดขนาดจนเหลือแค่แว่นธรรมดาเท่านั้นแหละ เกมก็เล่นผ่านแว่นตรงนั้น จะคุยกับใครที่ไหน จะแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้แน่ๆ

อนึ่ง เกณฑ์การพิจารณารางวัลปีนี้ กรรมการบอกว่ายากมาก เพราะ VR ผ่านจุดของการทดลองเทคโนโลยีไปแล้ว ตอนนี้เป็นจุดของการสร้าง Content & Platform เพราะงั้นผลงานที่ส่งประกวดเลยเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ เหตุผลที่ให้ Virtual Cast + VRM ชนะปีนี้ ก็เพราะเมื่อพิจารณา** “ความเข้าถึงได้”** ของผลงานแล้ว Virtual Cast + VRM จะทำให้คนเข้าถึง VR ได้มากที่สุด ตรงกับวัตถุประสงค์ของงานที่จัดเพื่อส่งเสริมให้ VR เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดเท่านั้นเอง ไม่ใช่เพราะผลงานนี้ดีหรือแย่กว่าผลงานอื่นแต่อย่างใด

สุดท้าย** ผลงานทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากคำว่า “อยากได้”** ของผู้สร้างทั้งนั้น เห็นพวกเขาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน ขอแค่ลงมือทำตั้งแต่วันนี้เท่านั้น ผมกับเพื่อนอีกคน ก็ได้แรงบันดาลใจว่าปีหน้าเราจะส่งเกม VR ประกวดบ้าง ปีหน้าจะเป็นเรานี่แหละที่ได้ขึ้นเวทีนี้ คอยดู!!!