เมื่อวันก่อนได้ไปดูละครเวทีแสดงโดยเมมเบอร์ AKB48 Team 8: Kenran toka Ranman toka (แพรวพราวและเบ่งบาน) แล้วประทับใจมาก เลยขอแชร์ประสบการณ์ครับ

Kenran toka Ranman toka คือ

Kenran toka Ranman toka** (絢爛とか爛漫とか แพรวพราวและเบ่งบาน)** เป็นละครเวทีที่ประพันธ์โดยนักเขียนชื่อ Iijima Sanae เล่าเรื่องราวชีวิตที่มีทั้งขึ้นและลงของนักเขียนนิยายสาวสี่คนในสมัยต้นโชวะ (1920s) ละครเวทีนี้ผ่านการแสดงมาจากหลายคณะ สำหรับ AKB48 ก็ได้แสดงไปแล้วรอบหนึ่งโดยโอชิมะ เรียวกะ, โอกาดะ นานะ, ชิมาดะ ฮารุกะ และมิยาซากิ มิโฮะ ส่วนรอบที่ผมดูนั้นแสดงโดย AKB48 Team 8 ครับ

img_2252

Kenran toka Ranman toka - AKB48 Team 8 Version

ทีม 8 แสดงละครนี้ระหว่างวันที่ 10/9/2016 ~ 19/9/2016 ที่ห้องจัดงานเลี้ยง Shinagawa Prince Hotel Club eX โดยมีนักแสดงดังนี้

  1. โนมุระ ฟุมิกะ แสดงโดย นางาโนะ เซริกะ (จ.โอซาก้า) และ นากาโนะ อิคุมิ (จ.ทตโตริ) double cast แสดงสลับกัน

  2. ยานากิฮาระ มายาโกะ แสดงโดย ทานิกาวะ ฮิจิริ (จ.อากิตะ) และ ซาโต้ นานามิ (จ.อิวาเตะ) double cast แสดงสลับกัน

  3. โคบายาชิ สุเอะ แสดงโดย โอตะ นาโอะ (จ.เกียวโต)

  4. มาซาดะ คาโอรุ แสดงโดย โอดะ เอรินะ (จ.คานากาว่า)

นักแสดง

ตัวละครหลักสองคน ฟุมิกะ และมายาโกะ ใช้นักแสดงสองคนผลัดกันขึ้น เลยมีการจับคู่นักแสดงแบ่งออกเป็น A B C D เซ็ตตามนี้

  • A: เซริกะ, นานามิ, นาโอะ, เอรินะ

  • B: อิคุมิ, ฮิจิริ, นาโอะ, เอรินะ

  • C: เซริกะ, ฮิจิริ, นาโอะ, เอรินะ

  • D: อิคุมิ, นานามิ, นาโอะ, เอรินะ

ผมไปดูรอบ 10/9/2016 18:00 เป็นรอบที่สองของนักแสดงชุด B แน่นอนว่าไปเพราะโอชิ No.1 ในทีม 8 อิคุมิขึ้นแสดงนั่นเอง อิอิ แต่ดูจบแล้วอยากไปดูให้ครบทุกชุดเลย น่าจะคนละอารมณ์กันหมดแน่ๆ

รายละเอียดการจัดละครรอบนี้: http://www.nelke.co.jp/stage/kenrantokaranmantoka-201609/

แผ่นพับที่แจกแก่ผู้ชม แผ่นพับที่แจกแก่ผู้ชม

เวที

เวทีเป็นเวทีกลมอยู่ตรงกลางห้องจัดแสดง มีผู้ชมนั่งดูล้อมรอบ 360 องศา ก่อนเริ่มแสดงมีคำเตือนว่าห้ามใช้แท่งไฟหรือผ้าเชียร์ และต้องปิดมือถือทุกคน เพื่อไม่ให้มีอะไรรบกวนนักแสดง

ผังที่นั่งรอบเวที

ผมเคยไปดูละครเวที AKB49 สดๆ กับดู Majisuka / Hakata-zachou Kouen ผ่านไลฟ์วิวที่โรงหนังอยู่ สามละครนี้ใช้เวทีใหญ่ด้านหน้า แสดงแบบมีไมค์ช่วย มีการเปลี่ยนฉากอย่างอลังการ แต่ละครนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เวทีเป็นเพียงเวทีเล็กๆ จำลองฉากในบ้านนางเอกฟุมิกะ ไม่มีการเปลี่ยนฉากเลย ทำให้บรรยากาศดู at home เข้าถึงความรู้สึกนักแสดงได้ และที่สำคัญคือ เมมเบอร์พูดสดๆ ไม่มีไมค์ช่วย ทำให้สัมผัสได้ถึงพลังเสียง และความคล่องแคล่วในการพูดของเมมเบอร์อย่างแท้จริง

ข้างในหอจัดแสดง ที่นั่งที่มีผ้าขาวคลุมเป็นที่นั่งเมมเบอร์ผู้ช่วยแต่ละวัน ที่จะมานั่งดูด้วยกัน

เนื้อเรื่อง (สปอยล์)

ขอเล่าเนื้อเรื่องที่นำมาจากสรุปในเว็บนี้ http://nights-entertainment.blog.so-net.ne.jp/2007-05-14 และตามที่ผมดูแล้วเข้าใจมา คิดว่าคงไม่ถูกหมด มีตกหล่นบ้าง แต่ก็หวังว่าจะสื่อความสนุกของเรื่องราวนี้ได้ครับ

ละครนี้เล่าถึงชีวิตของนักเขียนนิยายสาวสี่คนในสมัยต้นโชวะ (1920s) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่การเป็นนักเขียนนิยายนั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก นางเอก ฟุมิกะ (แสดงโดยอิคุมิ) กำลังตกอยู่ในสภาวะตีบตัน เขียนนิยายไม่ออก หลังจากที่นิยายเรื่องแรกของเธอได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ประสบความสำเร็จอยู่พักหนึ่ง แต่เธอกลับไม่สามารถเขียนเล่มที่สองออกมาได้สักที จนเวลาผ่านมาหนึ่งปี

วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ สุเอะ (แสดงโดยนาโอะจัง) นักแต่งนิยายที่กลุ้มใจกับแนวนิยายของตัวเองว่าซ้ำซากจำเจ ได้ตกหลุมรักจอห์นนี่ หนุ่มนักดนตรี เธอจึงมาขอให้เพื่อนทั้งสามช่วยพาเธอไปงานเต้นรำ มายาโกะ (แสดงโดยฮิจิริ) สาวจากตระกูลที่ร่ำรวยจึงจัดแจงสถานที่และเตรียมท่าเต้นเรียบร้อย แต่ฟุมิกะกลับไม่ยอมร่วมมือ เพราะอยากจะเขียนนิยายให้ได้ ไม่มีเวลามาเต้นรำไร้สาระ คาโอรุ (แสดงโดยเอรินะ) สาวอัจฉริยะอารมณ์ดี เห็นอย่างนั้นก็เลยพูดให้กำลังใจว่า “ไม่เห็นจะต้องกลุ้มเลย เขียนๆ ไปเถอะ เหมือนฉันไง เขียนนิยายที่ไม่มีตอนจบออกมาเนี่ย” ฟุมิกะได้ยินก็ยิ่งเจ็บใจกับความไร้พรสวรรค์ของตัวเอง ยิ่งปิดใจเข้าไปใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไปงานเต้นรำเพราะคำพูดมองมายาโกะที่บอกว่า “ที่จริงจอห์นนี่อยากเจอฟุมิกะ เขาเป็นแฟนผลงานนิยายเล่มแรกของเธอล่ะ” หลังจากที่ตอบรับ ฟุมิกะก็เรียกเรียวตะ เด็กรับใช้ มาคุย เล่าความตื่นเต้น ความลิงโลดในใจของเธอให้เขาฟัง (เรียวตะเป็นตัวละครสมมติที่ฟุมิกะพูดคุยด้วย ไม่มีตัวตนแสดงจริง ไม่มีบทพูดแม้แต่น้อย)

เวลาผ่านไป ถึงฤดูร้อน ฟุมิกะได้คบกับจอห์นนี่และเลิกไปเรียบร้อย ความสุขจากการได้คบผู้ชายทำให้เธอไม่ได้จับปากกาเลยสักนิด ในเวลาเดียวกัน สุเอะ ที่ถูกฟุมิกะแย่งจอห์นนี่ไป ได้ใช้ความเศร้านั้นเป็นแรงผลักดันเขียนนิยายออกมาอีกเล่ม คาโอรุ ที่เขียนนิยายที่ไม่มีฉากจบออกมาก็ได้รับเลือกลงตีพิมพ์ในนิตยสาร และมายาโกะที่จะเป็นนักวิจารณ์นิยาย ก็ได้เขียนนิยายลงตีพิมพ์เช่นกัน ฟุมิกะที่เห็นเพื่อนๆ ต่างได้ดิบได้ดี ก็ท้อแท้ และบ่นว่าจะเลิกเป็นนักเขียนนิยายแล้ว แต่มายาโกะและคนอื่นๆ ก็ได้แต่คิดว่าฟุมิกะดีแต่ปากเหมือนเดิม ก็แค่ง้ออยากเรียกร้องความสนใจเท่านั้น เดี๋ยวสุดท้ายก็กลับมาเขียนใหม่ (ฉากนี้อิคุมิลงไปนอนกอดหมอนงอนแก้มป่อง น่ารักโคตรๆๆๆๆๆๆๆ)

ฤดูใบไม้ร่วง ฟุมิกะเขียนนิยายออกมาเสร็จจนได้ เธอจึงเรียกเพื่อนทั้งสามมาเปิดแชมเปญดื่มฉลอง ตอนนั้นเอง ที่คาโอรุบอกว่าเธอจะแต่งงานและย้ายไปบราซิล และจะเลิกเขียนนิยาย ฟุมิกะได้ยินก็โมโหมาก ตัดพ้อว่าทำไมคนที่มีความสามารถอย่างคาโอรุถึงเลิกเขียน คาโอรุได้ตีพิมพ์นิยายลงนิตยสารมานับไม่ถ้วน ในขณะที่ฟุมิกะต้องพยายามแทบตายกว่าจะเขียนเสร็จสักเล่ม นิยายของคาโอรุมีจิตวิญญาณ มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่านิยายของฟุมิกะ ที่ลอกเลียน จับนู่นจับนี่มาผสมกันอย่างเทียบไม่ติด ขณะที่ทั้งสองคนเถียงกันอยู่นั่นเอง ก็มีข่าวว่าพ่อของสุเอะล้มป่วยลง ทำให้เธอต้องรีบรุดไปหา การถกเถียงจึงจบลงเพียงเท่านั้น ฟุมิกะตัดพ้อกับเรียวตะ เรียกเขามาพร่ำความไม่พอใจในจิตใจให้ฟังอยู่นานต่อนาน

ฤดูหนาว คาโอรุได้จากไปบราซิลแล้ว เธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับสามีที่นั่น ส่วนสุเอะก็อยู่กับพ่อแม่ที่บ้านเกิด แม่เธอที่เคยต่อต้านการเป็นนักเขียนนิยาย หลังจากที่ได้อ่านนิยายของสุเอะก็เกิดประทับใจ เห็นดีด้วยและส่งเสริม ส่วนฟุมิกะ หลังจากผ่านความเศร้าใจอย่างถึงที่สุดมาแล้ว ก็ระลึกได้ว่าตัวเองคือตัวเอง ไม่ต้องลอกเลียนใคร เธอได้เขียนนิยายของตัวเองออกมาจนสำเร็จ เธอเล่านิยายให้มายาโกะฟัง


**นิยายของฟุมิกะ **(แสดงประกอบโดยโอดะเอริและนาโอะ)

เรื่องราวของชายที่ได้รับอุปกรณ์วิเศษมาจากเทพเจ้า ทำให้เขาทำที่คาดผมอันงดงามได้ มีคนมากมายหลั่งใหลมาสั่งทำ ชายคนนี้จึงรำ่รวยมาก แต่เขาก็ตระหนักได้ว่าผู้คนสนใจเขาเพราะอุปกรณ์วิเศษนี้ ไม่ได้สนใจที่ความสามารถของเขาจริงๆ จึงทำลายอุปกรณ์นี้ทิ้ง และเลิกทำที่คาดผมไป จนวันหนึ่ง สาวงามที่ตรงใจชายคนนี้ได้มาขอให้เขาทำที่คาดผม ชายคนนี้จึงกลับมาทำที่คาดผมด้วยฝีมือของตัวเองอีกครั้ง แต่ผลก็เป็นอย่างที่คิด เขาทำได้เพียงที่คาดผมห่วยๆ ไม่มีความงดงามแม้แต่น้อย เขาได้ส่งที่คาดผมนี้ให้สาวงาม สาวงามได้จากไปเมืองอื่นด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่สุดท้ายเธอก็กลับมาหาเขา บนหัวมีที่คาดผมห่วยๆ อันนั้นอยู่ สาวงามประทับใจในความตั้งใจจริงของชายหนุ่ม ชายหนุ่มก็ได้รู้ว่าสิ่งที่ทำด้วยความสามารถของตัวเองนั่นแหละมีค่าที่สุด สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้ใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุข


มายาโกะที่ฟังเรื่องราวจนจบก็ชื่นชมฟุมิกะเป็นอย่างมาก จากนั้นมายาโกะก็สารภาพว่าตัวเองจะแต่งงานกับคนธรรมดาที่ตนชอบ ฟุมิกะจึงบอกว่าตัวเองก็ชอบเรียวตะ (คนรับใช้) แต่ทันใดที่เธอเรียกเรียวตะมาจะสารภาพรักนั้นเอง เรียวตะก็บอกว่าตัวเองจะกลับบ้านเกิดไปแต่งงาน ฟุมิกะได้แต่อึ้งไป… ที่จริงเรียวตะไม่ได้หลงรักอะไรฟุมิกะเลยสักนิด

ภาพจากทอล์กโชว์หลังแสดงจบ ให้ใช้มือถือถ่ายรูปได้ อิคุมิชุดกิโมโนสวยมากๆ

ความประทับใจ

นิยายเรื่องนี้เล่าถึงความผิดหวัง ความลับลั่นยักย้อนของชีวิตที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่ทุกคนต่างก็พยายามอย่างเต็มที่ในชีวิตนั้นๆ โดยเฉพาะฟุมิกะ ที่ใช้ทั้งความรัก ความอิจฉา ความผิดหวัง และสุดท้ายก็คือความพยายามอย่างบริสุทธิ์ เขียนนิยายที่วิเศษออกมาจนสำเร็จ เรื่องราวนี้สะท้อน “ชีวิตมนุษย์” ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

ความสนุกของเรื่องนี้อยู่ที่การตัดฉากในแต่ละฤดู ไม่เล่าเรื่องจนจบทุกเหตุการณ์ ทำให้ได้จินตนาการต่อว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร อย่างเช่นในฉากแรก หลังจากฟุมิกะตอบตกลงว่าจะไปงานเต้นรำ ก็จบเรื่องลงแค่นั้น ไม่มีการเล่าต่อว่าเกิดอะไรขึ้นในนั้น ทำให้ตัวละครเหมือนมีชีวิตต่อในใจเรา บทดีสมเป็นบทละครที่มีคนนำไปแสดงมาหลายต่อหลายครั้งจริงๆ

ส่วนความประทับใจในการแสดงของทีม 8 รอบที่ผมดูยกความประทับใจให้กับอิคุมิ (ฟุมิกะ) และโอดะเอริ (คาโอรุ)

  • อิคุมิ แสดงเข้ากับบทฟุมิกะมาก เป็นคนที่มีอีโก้สูง แสดงออกว่าเข้มแข็ง แต่ที่จริงในใจก็อยากให้คนดูแล มีความอิจฉาริษยาเหมือนคนทั่วไป การแสดงออกว่าเข้มแข็งนี้เข้ากับนิสัยแมนๆ ของอิคุมิมาก ส่วนบทจะโกรธก็โกรธจริง เสียงดังกึกก้อง แล้วก็ชุดกิโมโน ดูสง่างามมากๆ ยิ่งดูยิ่งนึกไม่ออกว่ารอบเซริกะแสดงจะเป็นยังไง อิมเมจดูไม่เป็นฟุมิกะเลย…

  • โอดะเอริ แสดงเป็นตัวรองก็จริง แต่พูดเร็ว พูดมีจังหวะจะโคน สื่อถึงความเป็นคนเริงร่า มองโลกในแง่บวก มีอิสระเสรีของคาโอรุได้อย่างไม่มีที่ติ ถ้าพูดถึงความเก่งในการแสดง ยกให้โอดะเอริอันดับหนึ่งเลย อิคุมิพูดบทไม่มีผิด แสดงอารมณ์ได้ดี 100% ก็จริง แต่โอดะเอริแสดงออกมา 150% เลยก็ว่าได้ ขอปรบมือให้ดังๆ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ละครครั้งนี้สนุก ก็คงเป็นเรื่องของเวทีด้วย ที่นั่งที่ห่างจากเวทีไม่ถึง 10 เมตร ทำให้น้ำเสียง อารมณ์ ความตึงเครียด รอยยิ้ม และทุกๆ อย่างสื่อมาถึงตัวเราอย่างทวีคูณ ผมไม่เคยเจอละครที่ดึงให้เข้าไปอยู่ในฉากได้ขนาดนี้มาก่อนในชีวิตเลย

ขอปิดท้ายด้วยคลิปเพลง 365 nichi no kamihikouki ที่ขับร้องหลังแสดงจบครับ ซาบซึ้ง… ชีวิตจะลำบาก จะมีอุปสรรคทำให้ไม่เป็นไปตามที่ฝันอย่างไร ก็ต้องมุ่งมั่น เดินหน้าต่อไปเท่านั้น!

สรุป

ละครเวที Kenran toka Ranman toka เป็นละครที่แนะนำให้ดูได้ทุกคน ส่วนตัวผมชอบละครเวทีอยู่แล้ว เพราะได้ขบคิด ได้ความประทับใจกลับมา และที่สำคัญคือได้เห็นความตั้งใจจริงของเมมเบอร์ชัดเจน เพราะละครจะโฟกัสบทไปที่แต่ละคนๆ ไม่เหมือนคอนเสิร์ตที่แสดงทั้งวง จึงได้เห็นอีกมุมหนึ่งของเมมเบอร์ที่ไม่ใช่ไอดอล แต่เป็นนักแสดงที่เข้าถึงโลกแห่งละครที่แท้จริง ถ้า AKB48 Group จัดละครเวทีเล็กๆ อย่างนี้อีก และมีเมมเบอร์ที่ชอบขึ้นบ้าง ผมก็ไปดูแน่นอนครับ สนุกและให้แรงบันดาลใจถึงขนาดนี้!

ปล.ภาษาญี่ปุ่นในเรื่องค่อนข้างยาก เป็นภาษาโบราณนิดๆ แต่เมมเบอร์ทุกคนก็พูดกันเร็วมาก ท่องจนบทขึ้นใจจริงๆ สุดยอด!