บทความที่สามของซีรีส์เรียนรู้เทคนิคถ่ายรูปกับ AKB48 Team 8 ครั้งนี้จะพูดถึง ISO หรือความไวแสงครับ

Yume he no Route (1/250s 124mm f/5.6 ISO2000)

หัวข้อในซีรีส์

  1. Focus

  2. Shutter Speed

  3. ISO

  4. Burst Shot

  5. Aperture

  6. DOF

  7. Manual Mode

  8. Image Stabilization

อีเวนต์ในบทความนี้

อีเวนต์: National Basketball League (NBL) Toyota ALVARK Tokyo vs Chiba Jets วันที่: 2016/4/16 - 2016/4/17 เมมเบอร์ (จากจังหวัด): Sakaguchi Nagisa (Hokkaido), Yoshikawa Nanase (Chiba), Oguri Yui (Tokyo), Oda Erina (Kanagawa), Yokomichi Yuri (Shizuoka), Yamada Nanami (Hyogo), Nakano Ikumi (Tottori), Kuranoo Narumi (Kumamoto)

Screen Shot 2016-07-16 at 10.39.05

อุปกรณ์ที่ใช้

บอดี้: OLYMPUS PEN Lite E-PL6 เลนส์: OLYMPUS M.ZUIKO DIGITAL 75-300mm f/4.8-6.7 II ED

ผมใช้เลนส์ Micro Four-Third ตัวคูณ = 2 ดังนั้นระยะเลนส์จริงจะต้องคูณสองไปจากค่าระยะของเลนส์ครับ

รายละเอียดอีเวนต์

อีเวนต์ครั้งนี้เป็นมินิไลฟ์ที่จัดในงานแข่งบาสเก็ตบอลที่ทีมโตโยต้าโตเกียวเป็นเจ้าภาพ จัดที่สนามกีฬาแห่งชาติโยโยกิ (อาคารสอง) ต้องซื้อตั๋วดูบาสเก็ตบอลเข้าชมครับ ค่าตั๋วที่นั่งรอบนอก ถูกสุด 2,100 เยน ส่วนที่นั่งอารีน่าติดสนามแข่งก็ราวๆ ห้าพันเยนได้ ทีม 8 มาเต้นก่อนเริ่มแข่ง ช่วงพักครึ่ง มาเป็นกองเชียร์ทีมโตโยต้า และยังร่วมกิจกรรมเล่นเกมชู้ตบาสด้วย อีเวนต์อัดแน่น แถมยังพาเมมเบอร์ขั้นเทพ ทั้ง นากิ ยุยยุย ยามาดะ อิคุมิน นารุจัง ฯลฯ มาขนาดนี้ดูดแฟนๆ โอตะทีม 8 มาเป็นกองเชียร์โตโยต้าได้เป็นร้อยเลย 555

สนามกีฬาแห่งชาติโยโยกิ ที่จัดอีเวนต์

นี่เป็นอีเวนต์ทีม 8 ในอาคารครั้งแรกที่ผมไปดู ได้ที่นั่งในสนามกีฬา ดูสบายๆ ไม่เหนื่อย ไม่เจอแดดร้อน กล้องเลนส์ซูมไกลๆ ก็มีแล้ว เทคนิคถ่ายรูปก็รู้มาจากอีเวนต์สองครั้งก่อนแล้ว

  1. ปรับโหมด AF-C ให้ตามโฟกัสอัตโนมัติ

  2. ความเร็วชัตเตอร์ ไม่ช้ากว่า 1/500s

ตอนเข้าไปนี่มั่นใจว่าได้ภาพชัดแน่ แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้าม เพราะอะไรเชิญอ่านต่อไปครับ

สถานการณ์ถ่ายรูป

คลิปวิดีโอเพลง 47 no Suteki na Machi he ในงานวันนี้ จะสังเกตได้ว่า

  1. แสงโดยรวมมืด ดูได้จากเงาหน้าเมมเบอร์

  2. มีไฟสีๆ ของเวทีฉายเปลี่ยนสีหมุนเวียนไปมา

  3. แสงกะพริบเพราะหลอดฟลูออเรสเซนต์

เรียกได้ว่าสภาพแสงแย่มาก แถมยังไม่คงที่อีก ไม่เหมือนแสงธรรมชาติจากเวทีข้างนอกเลย

อนึ่ง เรื่องแสงกะพริบจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เห็นในวิดีโอ มีสาเหตุและวิธีแก้ ลองอ่านเล่นๆ ได้ที่นี่ครับ ถ้าอธิบายคงยาว ฮ่าๆ

ISO ความไวแสง

ISO เป็นค่าที่กำหนดความไวในการรับแสงของเซนเซอร์กล้อง พูดง่ายๆ คือยิ่ง ISO สูง กล้องยิ่งรับแสงได้ “ไวขึ้น” ส่งผลให้ภาพ “สว่างขึ้น” ด้วยความเร็วชัตเตอร์เท่าเดิม ปริมาณแสงที่เข้ามาเท่าเดิมครับ การปรับ ISO จะมีประโยชน์มากในการถ่ายภาพในที่มืด เพราะจะทำให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ (SS) ได้ ในขณะที่ภาพยังคงสว่างเท่าเดิม เมื่อ SS เร็วขึ้น ก็จับภาพได้นิ่งขึ้น ลดอาการสั่นเบลอลงได้ครับ

ภาพประกอบไม่เกี่ยว แต่นากิน่ารักดี ^^ (1/250s 300mm f/6.7 ISO2500)

แต่ในโลกการถ่ายรูป ทุกอย่างต้องมี trade off มีข้อแลกเปลี่ยน… การเพิ่ม ISO ทำให้กล้องรับแสงได้ไวขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้แสงที่เข้าสู่ตัวกล้องเพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย ส่งผลให้คุณภาพของภาพลดลงครับ คุณภาพนี้จะปรากฏออกมาในรูปของ noise - จุดสีๆ พร่าๆ บนรูป ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อค่า ISO สูงครับ กล้องแต่ละตัวมีความสามารถในการลบจุด noise นี้ไม่เท่ากัน แน่นอนว่ากล้องแพง กล้องใหญ่มักจะลบ noise ได้ดีกว่ากล้องเล็กครับ

กล้องทั่วไป ค่า ISO ต่ำสุดมักเริ่มที่ 200 เป็นค่าเริ่มต้นที่ให้คุณภาพภาพดีที่สุด เพิ่มได้จนถึงค่าสูงสุดของกล้องแต่ละตัว อย่าง E-PL6 ที่ผมใช้สามารถเร่งได้ถึง ISO25600 เทียบได้กับความเร็วชัตเตอร์เร็วขึ้น 7 เท่า เปรียบเทียบง่ายๆ 1/8s ISO200 = 1/1000s ISO25600 จากที่ต้องถือกล้องนิ่งสุดๆ ภาพถึงจะไม่เบลอ สามารถถ่ายไอดอลที่เต้นขยับอย่างรวดเร็วให้หยุดนิ่งได้เลยครับ

มาเปรียบเทียบภาพกันดีกว่า

ISO ต่ำ - 1/250s 300mm f/6.7 ISO2500

ISO สูง - 1/640s 200mm f/6.3 ISO12800

ลองคลิกดูภาพขนาดเต็ม จะเห็นได้ชัดว่าภาพล่าง ISO12800 มี noise อย่างชัดเจน แม้จะหยุดการเคลื่อนไหวให้นิ่งได้ โฟกัสติดคมแค่ไหน แต่เจอจุดด่างดำบนหน้าขนาดนี้ก็ไม่ฟินละครับ 555 ส่วนภาพบนที่ ISO2500 ถึงหน้าจะไม่ขาววิ้ง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ แต่ก็แลกมาด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ลดลงจาก 1/640s เหลือ 1/250s ก็จะถ่ายการเคลื่อนไหวเร็วๆ ไม่ได้ครับ

อนึ่ง กล้องแต่ละตัวจะมีระดับ ISO ที่พอรับของมันได้อยู่ อย่าง E-PL6 นี่ประมาณ ISO2500 ยังพอรับได้ แต่มากกว่านั้นจะมีแต่จุดๆ เต็มไปหมดแล้วครับ กล้องคอมแพ็คเล็กๆ นี่ ISO800 ขึ้นไปก็เริ่มจะรับไม่ได้แล้ว ลองศึกษากล้องที่ตัวเองมีดูนะครับ จะได้รู้ว่าถึงจุดไหนต้องปรับ ISO ขึ้น ถึงจุดไหนต้องยอมแพ้ ลด SS ให้ช้าลง

ปิดท้ายด้วยภาพยุยยุยกับนักกีฬานำทีมชนะ พร้อมคำคมของพิธีกร “อยากถ่ายรูปกับไอดอลก็มาเป็นนักกีฬาระดับชาติสิครับ” อื้อหือ… (1/400s 252mm f/6.5 ISO6400)

มาถึงตอนนี้ผมก็ได้อธิบายสองในสามค่าหลักของการถ่ายรูป Shutter Speed และ ISO ไปแล้ว ตอนต่อไปจะพูดถึง Burst Shot โหมดถ่ายรัว ก่อนจะพูดถึงค่าสุดท้าย Aperture ครับ รอติดตามอ่านกันนะ

ปล.อีเวนต์นี้แสงไม่ดี ภาพออกมาแย่มากเลยไม่ได้อัพรูปไว้ครับ อีเวนต์กลางแจ้ง แสงดีมีชัยไปกว่าครึ่งจริงๆ